อัตราดอกเบี้ยขึ้นแล้ว หุ้นไฟแนนซ์รับมือไหวแค่ไหน !

อัตราดอกเบี้ยขึ้นแล้ว  หุ้นไฟแนนซ์รับมือไหวแค่ไหน !

อีเวนท์สำคัญกลางสัปดาห์หน้าหนีไม่พ้นการประชุม กนง. (10 ส.ค.) ซึ่งเป็นที่คาดหมายแล้วว่าคณะกรรมการจะเทใจไปที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งถือว่าเป็นการขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี จากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 0.5% ซึ่งมีผลต่อหุ้นการเงินทั้งแบงก์ และไฟแนนซ์

         ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการ กนง. จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้หนีไม่พ้นการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ  ที่ตั้งแต่เดือนก.พ. 5.2% จากนั้นมีการเร่งขึ้นต่อเนื่องจนเดือนพ.ค. 7.1% และเดือนมิ.ย. 7.66% ที่ล่าสุดประกาศในเดือนก.ค. อยู่ที่ 7.61% แม้จะลดลงครั้งแรกจากเดือนก่อนหน้า แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเพิ่มสูงขึ้น 

         อย่างไรก็ตามเริ่มมีการมองแล้วว่า  หลังราคาพลังลดลงยิ่งราคาน้ำมันต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนส.ค. ทำให้การเร่งตัวของเงินเฟ้อชะลอตัวลง และแรงกดดันที่ต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดจะอาจไม่มีความจำเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว

         ดังนั้นเสียงส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นจึงมองไปที่ผลประชุม กนง. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่จะอยู่ในระดับ 0.25%  ทำให้อัตราดอกเบี้ยไทยมาอยู่ที่  0.75%   แต่อาจจะมีคณะกรรมการส่วนน้อยที่เสียงแตกออกมาให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.50 %

         ความเชื่อมั่นดังกล่าวสะท้อนมายังตลาดหุ้นไทยที่มีแรงหนุนทำให้ดัชนีแตะ 1,600 จุด  แรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ และค่าเงินบาทในช่วงนี้ที่แข็งค่าขึ้นจากก่อนหน้านี้อ่อนค่าอย่างหนักไปแตะที่ 37 บาทต่อดอลลาร์มาอยู่ที่  35.77   บาทต่อดอลลาร์

       ด้านหุ้นที่ตอบรับจากประเด็นประชุม กนง.บริษัท หลักทรัพย์(บล.)ฟิลลิป มองว่ามีโอกาสที่ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ไปอีก 3 ครั้งในการประชุมตลอดปีนี้มากกว่าการเร่งขึ้น อัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในคราวใดคราวหนึ่งเพื่อเป็นการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น   อย่างค่อยเป็นค่อยไป

    โดยไม่กระทบภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากจนเกินไป อีกทั้งยังเปิดโอกาสรอการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวช่วงปลายปี รวมถึงการชะลอตัวของราคาน้ำมันในโลก ที่จะช่วยบรรเทาการเร่งตัวของเงินเฟ้อที่คาดจะมีจุดพีค ในช่วงไตรมาส 3

      สำหรับหุ้นที่ได้ และเสียประโยชน์หลัง กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประเด็นที่ 1. ปรับฐาน ดอกเบี้ยกู้ยืมขั้นต่ำทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้น มีแนวโน้มกระทบต่อธุรกิจที่มีภาระหนี้สูง หรือ ธุรกิจเช่าซื้อ /จำนำทะเบียน รถ เช่น MTC, SAWAD, TIDLOR

       ประเด็นที่ 2 เป็นตัวผลักดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกดดันหุ้นในกลุ่มส่งออก เช่น KCE, OSP, SAPPE แต่ได้ประโยชน์ กับหุ้นที่มีสัดส่วนนำเข้าสูง เช่น TVO, COM7, SYNEX, JMART และประเด็นที่ 3. ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มธนาคารปรับสูงขึ้น จากโครงสร้างที่ดอกเบี้ยสินเชื่ออื่นปรับขึ้นเร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก เช่น  KTB, KBANK, SCB, BBL

         อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไฟแนนซ์ในกลุ่มสินเชื่อเงินสด และสินเชื่อเช่าซื้อถือว่าได้ปรับตัวได้เร็วกับสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นถือว่าต้นทุนการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า  ด้วยการล็อกต้นทุนการเงินไว้เป็นสภาพคล่อง

        ในช่วงเดือนส.ค. บริษัทที่ประกาศเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ในกลุ่มไฟแนนซ์ ประกอบไปด้วยบริษัท        เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC โดยเสนอขายหุ้นกู้ 2 ปี ดอกเบี้ย 3% และ 3 ปี ที่ดอกเบี้ย 3.80%  จะเสนอขายในช่วง 19 และ 22-23 ส.ค. , บริษัท ราชธานี ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI  เตรียมเสนอขายหุ้นกู้อายุ 4 ปี ดอกเบี้ย 3.50 %  แบ่งการขาย 18-19 ส.ค. ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม และ 22-24 ส.ค. สำหรับนักลงทุนทั่วไป

         ส่วนที่เสนอขายหุ้นกู้ไปแล้ว บริษัท ศรีสวัสดิ์  คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ขายหุ้นกู้อายุ  3 ปี ที่อัตราดอกเบี้ย 3.80 %  ช่วง 1-3 ส.ค. ที่ผ่านมา และ บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PL  ได้เสนอขายหุ้นกู้อายุ 2 ปี ดอกเบี้ย 3.30%  ได้เสนอขายไปแล้ว 26-30 มิ.ย. ที่ผ่านมา  

         ขณะเดียวกันปัจจัยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2565 กำลังทยอยประกาศมีมุมมองเติบโต บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดกำไร ของกลุ่มไฟแนนซ์ ประกอบด้วย  MTC SAWAD TIDLOR SAK เพิ่มขึ้น +5%  (Q-Q) และ +8% ( Y-Y)  ซึ่งฟื้นตัวได้ดีตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามการ Reopening และยังไม่เห็น สัญญาณการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการทำกำไร

         อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอาจกดดันกำไรจากกลุ่มจาก NIM ที่แคบลงรวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ แต่คาดจะชดเชยได้จาก Loan Growth ที่สูงขึ้น จึงปรับประมาณการ กำไรของกลุ่มปี  2565-2566 เล็กน้อย 2-4% แต่ยังเป็นกลุ่มที่ชอบที่สุดหากเทียบกับไฟแนนซ์อื่นๆ โดยเลือก MTC เป็น Top Pick จากกำไรปี 2566 ที่โตสูงสุด ราคาเป้าหมาย 60 บาท

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์