"ขึ้นดอกเบี้ยช้า" เพิ่มต้นทุนเศรษฐกิจ

"ขึ้นดอกเบี้ยช้า" เพิ่มต้นทุนเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์มองว่า การปรับการปรับดอกเบี้ยที่ล่าช้าจะเป็นการเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านความผันผวนของค่าเงินบาทที่ทำให้ ธปท.จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงเงินบาทและนำมาสู่ทุนสำรองที่ลดลง

ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือน ก.ค.2565 ไม่ได้ทำสถิติใหม่แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปี 2564 ขยายตัว 7.61% และทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วง 7 เดือน แรกของปี 2565 ขยายตัว 5.89% ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนและต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น และปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2565 ขึ้นมาเป็น 5.5-6.5%

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยที่ทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อระดับสูงอยู่กับประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกนานกว่าที่คาด จึงทำให้หลายประเทศปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ รวมถึงประเทศไทยที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของการกำหนดนโยบายการเงินเพื่อบริหารเศรษฐกิจประเทศ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 ส.ค.2565 จะเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยใหม่ ซึ่งเป็นการพิจารณาภายใต้อัตราดอกเบี้ยโลกขาขึ้นโดยที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาส่งสัญญาณถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ในรอบ 1 ปี ครึ่งที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยคงไว้ที่ 0.5% มาตลอด และมีการประชุมเพียงครั้งเดียวในวันที่ 4 ส.ค.2564 มีมติไม่เอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ย

ช่วงที่ผ่านมา มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยแม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อได้ไม่มาก เพราะบริบททางเศรษฐกิจของไทยและสหรัฐแตกต่างกัน แต่ก็จำเป็นต้องปรับขึ้นเพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยห่างกันมากขึ้น

ในขณะที่ผลกระทบอีกด้านของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ย่อมส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของผู้มีเงินกู้ทั้งภาคเอกชนและประชาชน จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ในขณะที่อีกมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่าการปรับการปรับดอกเบี้ยที่ล่าช้าจะเป็นการเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. ที่มองว่าที่ผ่านมาทำให้เกิดต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นทั้งในด้านความผันผวนของค่าเงินบาทที่ทำให้ ธปท.จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงเงินบาทและนำมาสู่ทุนสำรองที่ลดลง ซึ่งต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายที่ช้าเกินไป และหลายเหตุผลดังกล่าว คือ สิ่งที่ กนง.จะต้องพิจารณาตัดสินใจการประชุมที่จะถึง