ระบบการเงินไทยจะปรับตัวอย่างไร เมื่อดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น

ระบบการเงินไทยจะปรับตัวอย่างไร เมื่อดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น

แม้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ระดับเดิมที่ 0.50% อย่างไรก็ตาม สัญญาณเศรษฐกิจและตลาดการเงินต่างสะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจไม่สามารถคงอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ต่อไปเป็นระยะเวลายาวนานได้

ทั้งจากปัจจัยทางเศรษฐกิจชี้นำ เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มีการฟื้นตัว โดยเฉพาะการกลับมามีบทบาทของภาคการท่องเที่ยวที่ได้อานิสงส์จากปลดล็อกการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในภาคบริการมีการฟื้นตัว และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ส่งผลให้ความจำเป็นในการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจลดลงอย่างชัดเจน

      นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เป็นปัจจัยหลักกดดันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ก็มีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ราคาค่าสาธารณูปโภคในประเทศ และราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร ต่างก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในทุกหมวดหมู่ 

จนอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ปรับตัวสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.2565 อยู่ที่ 7.66% และทั้งปีประเมินเฉลี่ยอยู่ที่ 6.7% การปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อถือเป็นความเสี่ยงหลักที่ กนง. ต่างยอมรับว่าเป็นประเด็นที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 นอกเหนือจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ผลของการลงคะแนน 4:3 เสียงของ กนง. ที่คณะกรรมการส่วนหนึ่งเห็นด้วยต่อการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กอปรกับแนวทางการสื่อสารของผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณสะท้อนภาพให้ตลาดการเงินคาดการณ์การปรับทิศทางนโยบายการเงินจากผ่อนคลายเป็นตึงตัว

โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1 ปี ณ สิ้นเดือนพ.ค.อยู่ที่ระดับ 0.66% ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน และทรงตัวที่ 1.1% จนถึงขณะนี้

 ด้วยปัจจัยดังกล่าวมาข้างต้นตลาดการเงินและนักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่าการประชุมของ กนง.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 นี้ จะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ กนง.จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยขาลงและอาจสะท้อนยุคดอกเบี้ยขาขึ้น

ที่กำลังจะมาถึงจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจะส่งผลให้ กนง. จำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อสกัดกั้นการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ

    คาดว่าในการประชุมอีกสามครั้งที่เหลือของปี ในสัปดาห์หน้า และในช่วงเดือนกันยายนและพฤศจิกายน จะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อยครั้งละ 0.25% และถ้าการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังเป็นไปได้ดี โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวเร็วของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจมีการปรับขึ้น 0.50% ในบางการประชุม ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับจาก 0.50% ขึ้นไปอยู่ในช่วง 1.25%-1.5% ณ สิ้นปี 2565

     เมื่อมองย้อนไปตั้งแต่ปี2544 อันเป็นช่วงเวลาที่ ธปท. อาศัยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีกรอบเงินเฟ้อเป็นเครื่องมือหลักในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน  ประเทศไทยได้ผ่านยุคอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมาทั้งสิ้น 2 ครั้ง 

โดยครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในช่วงปี 2547 ถึงปี 2549 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ และ ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงปี 2553 ถึงปี 2554 ที่เป็นการปรับขึ้นอัตราอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวที่ดีจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และมีการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ

    เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาคือ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของระบบทั้งด้านเงินกู้และเงินฝาก จากการศึกษาข้อมูลในอดีต พบว่าในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยทั้งสองช่วงเวลา อัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงบางส่วนเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 ในฝั่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีความสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ MLR (Minimum Loan Rate) MOR (Minimum Overdraft Rate) และ MRR (Minimum Retail Rate)

โดยในอดีต อัตราดอกเบี้ยเหล่านี้ต่างปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ในช่วงเดือนมกราคม 2547 ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.25% มาอยู่ที่ 5.00% ณ เดือนธันวาคม 2549 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3.75%

และพบว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนมกราคม 2547 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 5.70% มาอยู่ที่ 7.75% ในเดือนธันวาคม 2549 คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทั้งสิ้น 2.05% ซึ่งหากวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตจะพบว่า โดยเฉลี่ย ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จะส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ย MLR ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 0.15%

 

 ในขณะเดียวกัน ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยเช่นกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบแล้ว อัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากประจำ มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและสูงกว่าเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ดังเช่น ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2553 ถึง 2554 อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.25% มาอยู่ที่ 3.50% ส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากประจำ อายุ 1 ปี เฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.70% มาอยู่ที่ 2.85% คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทั้งสิ้น 2.15%

ซึ่งในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จะส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอายุ 1 ปี ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 0.24% ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.50% มาอยู่ที่ 0.88% คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.38%

     อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ปัจจุบันที่จากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และการฟื้นตัวของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME ที่ยังคงเปราะบาง 

ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของระบบเหมือนในอดีต เราคาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของระบบจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจไม่ได้ปรับขึ้นทุกครั้งที่ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น และอาจไม่ได้ปรับขึ้นในระดับเท่ากับดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละครั้ง

นอกจากนี้ คาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เปราะบางอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนภาครัฐอาจต้องมีมาตรการที่จำเป็นเพื่อดูแลประชาชน โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มเปราะบางให้ประคองตัวผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้