ครม.ไฟเขียว 1.2 พันล้าน ‘ชุมชนดีพร้อม’ ดันเม็ดเงินหมุนเวียน1.2 หมื่นล้าน

ครม.ไฟเขียว 1.2 พันล้าน ‘ชุมชนดีพร้อม’ ดันเม็ดเงินหมุนเวียน1.2 หมื่นล้าน

ครม.อนุมัติงบกลาง 1,249 ล้านบาท ดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม คาดเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,490 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ภายในกรอบวงเงิน 1,249 ล้านบาท 

โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ คาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,490 ล้านบาท  ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การส่งเสริมและพัฒนาคนในชุมชนให้มีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ และพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ กลุ่มเป้าหมายแยกเป็น กลุ่มผู้รับประโยชน์โดยตรง จะเป็นคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ได้แก่ ผู้ประกอบการOTOP  กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประชาชนที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและกลับคืนถิ่น

ตลอดจนประชาชนที่สนใจเพิ่มทักษะองค์ความรู้ให้ตนเองกว่า 700,000 คน และผู้รับประโยชน์โดยอ้อม จะมีชุมชนอย่างน้อย 400 พื้นที่ทั่วประเทศได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งภายหลังโควิด 19

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ในการดำเนินโครงการนี้จะจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานและทักษะอาชีพที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 4 หลักสูตร ดำเนินการผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 12 แห่ง และส่วนกลางคือที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย หลักสูตรที่ 1 พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต เช่น กลุ่มอาชีพการทำของใช้ในครัวเรือน ไม้กวาดทางมะพร้าว น้ำยาล้างจ้านเป็นต้น จำนวน 350,000 คน วงเงิน 529.9 ล้านบาท  

หลักสูตรที่ 2 พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ เช่น กลุ่มอาชีพช่าง ซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมรถ ซ่อมแอร์ ช่างเย็บผ้า ตัดผม จำนวน 40,000 คน วงเงิน 67.56 ล้านบาท

หลักสูตรที่ 3 พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หรืออัตลักษณ์และแบรนด์สินค้า เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น สอดรับกับความต้องการของของตลาดและสามารถกระจายสินค้าและบริการได้อย่างกว้างขวาง จำนวน 270,000 คน วงเงิน 476.28 ล้านบาท และ

หลักสูตรที่ 4 พัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการเงินในภาคครัวเรือนหรือ ภาคธุรกิจ  การจัดทำแผนธุรกิจ การบัญชี การตลาด เป็นต้น จำนวน 40,000 คน วงเงิน 48.56 ล้านบาท และมีค่าบริหารจัดการโครงการ เช่น ค่าประชาสัมพันธ์โครงการ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พัก พาหนะ ค่าใช้จ่ายในการติดตามและประเมินผลโครงการ ค่าเปิดตัวโครงการ(Kick Off) ค่าจ้างเหมาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน วงเงิน 126.99ล้านบาท