ร้านอาหารต้นทุนพุ่งสวนทางกำลังซื้อ!

นายกสมาคมภัตตาคารไทย ฐนิวรรณ กุลมงคล ระบุ การปรับราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีรอบล่าสุดไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารมากนัก แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย

ส่วนตัวแปรใหญ่ที่กระทบธุรกิจอาหารในขณะนี้ คือต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่น เนื้อหมู ส่วนสะโพก จากซื้อขายราว 130-140 บาทต่อกก. พุ่งเป็นเกือบเท่าตัวกว่า 220 บาทต่อกก. ปลายเดือนพฤษภาคม ราคาสะโพกไก่อยู่ที่ 65 บาทต่อกก. ล่าสุดสูงกว่า 100 บาทต่อกก. หากเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ดัง ราคาจะยิ่งสูงขึ้น

ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารเผชิญต้นทุนวัตถุดิบแพงตั้งแต่ต้นปี ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายปรับขึ้นราคา โดยเฉพาะร้านอาหารเครือข่ายต่างๆ โดยรูปแบบการขยับราคา มีตั้งแต่การจัดโปรโมชั่นใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบความรู้สึกของผู้บริโภค ขณะที่บางรายที่ได้มิชลินสตาร์ เคยขายเมนูติดดาวราคา 200 บาท ปรับขึ้นเป็น 400 บาท ขณะที่แบรนด์ร้านอาหารเครือข่ายหรือเชนจำนวนมาก ได้ปรับขึ้นราคาอาหารตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากทนแบกรับวัตถุดิบแพงไม่ไหว

นายกสมาคมภัตตาคารไทยคาดหวังว่าแนวโน้มวัตถุดิบครึ่งปีหลังจะปรับลดลงบ้าง เนื่องจากผลผลิตหรือซัพพลายเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ จะออกสู่ตลาด ทำให้ราคาอ่อนตัวลง
สถานการณ์ต้นทุนแพง และร้านอาหารปรับราคาขายเพิ่ม สวนทางกับกำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง และออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง รวมถึงการทำงานที่บ้าน ผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ ทำให้การเลี้ยงสังสรรค์หายไป
ซึ่งการที่ลูกค้ามีจำนวนน้อยลง ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กอยู่ยากขึ้น 

ราคาอาหารที่แพงขึ้น ทำให้มูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารเติบโตแน่นอน หากเทียบก่อนหน้านี้ การรับประทานอาหารไทยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 300 บาท ปัจจุบันดีดขึ้นเป็น 450 บาท หากเป็นบุฟเฟต์จะแตะ 600-700 บาท แต่ที่น่าห่วงคือกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนตัวลง จากเคยออกมาทานข้าวนอกบ้านกับครอบครัว เพื่อน หรือปาร์ตี้ของออฟฟิศค่อนข้างมาก ปัจจุบันอาจลดเหลือเดือนละครั้ง ทำให้ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบต่อเนื่อง