“อาคม” ไฟเขียว บสย.ค้ำประกันสินเชื่อPGS10

“อาคม” ไฟเขียว บสย.ค้ำประกันสินเชื่อPGS10

“อาคม”ไฟเขียวบสย.ค้ำสินเชื่อ PGS10 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทและไมโคร 5 วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีทุกขนาด รับแผน Beyond Borders พร้อมมอบนโยบายให้บสย.รับเป็นที่ปรึกษาการเงินและธุรกิจหนุนให้เอสเอ็มอีเติบโต

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงาน บสย.Beyond Borders ในวาระที่ บสย.ครบรอบการก่อตั้ง 30 ปี ว่าบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินหลักของกระทรวงการคลัง และ เนื่องจาก บสย.ครบรอบ 30 ปี ก็ได้ปรับปรุงภาพลักษณ์ และองค์กรใหม่ เพื่อให้ก้าวพ้นทุกขีดจำกัด ซึ่งหมายถึง นอกเหนือจากการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้วอีก บทบาทที่สำคัญคือ การให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ

“สำหรับ เอสเอ็มอี บางรายยังกลัวๆ กล้าๆ ไม่รู้จะเริ่มต้นธุรกิจอย่างไร ก็สามารถเดินมาที่ศูนย์ที่ปรึกษาการเงิน ของ บสย. ได้” นายอาคม กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า บทบาทต่อมาคือ การเชื่อมต่อองค์ความรู้กับสถาบันวิจัยต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ เกษตรกรรม หรืองานวิจัยและพัฒนา ที่ได้รับการพิสูจน์ แล้วว่าเห็นผลสำเร็จจริง เพื่อให้ลูกค้า และผู้เข้ารับคำปรึกษา ได้นำไปใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ ยังมีบทบาทที่ได้ก้าวข้ามมาแล้วคือ การค้ำประกันเอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2564 รัฐบาลก็ได้ออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็ได้มอบหมายให้ บสย. เข้ามาดูแลการค้ำประกัน  จึงได้เข้ามาค้ำประกันธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าเอสเอ็มอี หรือมีมูลค่าธุรกิจหลักร้อยล้านบาท

เขากล่าวด้วยว่า อยากให้การค้ำประกันของ บสย.เป็นตัวกำหนดทิศทางของโอกาสในอนาคตของเอสเอ็มอีให้สอดคล้องกับแนวทางนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการส่งเสริมธุรกิจที่เป็น BCG

ทั้งนี้ การทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ BCG ไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ธุรกิจขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งเอสเอ็มอีทั้งประเทศมีถึง 3 ล้านราย สามารถสร้างจีดีพีให้กับประเทศคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของจีดีพีทั้งหมด

เขากล่าวด้วยว่า ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ BCG อาจสามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Recycle หรือ ReUse เป็นต้น

2.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของคนไทย หรือ Health Care โดยเฉพาะเมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุ  และ3. ธุรกิจที่ใช้ Digital เป็นเครื่องมือ ซึ่งหากใครไม่สามารถนำ Digital มาใช้เป็นเครื่องมือทางธุรกิจก็อาจตกยุคได้

สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS10 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และไมโคร 5 วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ที่ทาง บสย.ได้เสนอขอวงเงินมาที่กระทรวงการคลัง นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณา และจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นลำดับถัดไป ในเร็วๆ นี้

“สำหรับรายละเอียดโครงการนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งตามปกติก็จะได้ ค่อยมีการปรับปรุงอะไร ดังนั้น คาดว่า วงเงินทั้งสองโครงการก็น่าจะเป็นไปตามที่ บสย.เสนอไป”

ด้าน นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ในปี 2564 บสย. ได้เข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี ทุกกลุ่มรวมกันกว่า 2.2 แสนราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ประกอบการในกลุ่มเปราะบางมากถึง 73 %

ในปัจจุบัน บสย.มียอดค้ำประกันสะสม รวมกัน 1.3 ล้านล้านบาท สามารถช่วยเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้มากถึง 7.4 แสนราย และช่วยรักษาการจ้างงานมากกว่า 11 ล้านคน  สามารถสร้างผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ 5.7 ล้านล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางอีกราว 3 ล้านราย ที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์