สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย

ความกังวลในขณะนี้อยู่ที่ความสามารถในการรับมือสถานการณ์ระดับวิกฤติของรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงนับถอยหลังก่อนรัฐบาลครบวาระในอีกไม่ถึง 10 เดือน คือ การตัดสินใจของรัฐบาลที่ให้น้ำหนักกับการมองผลทางการเมือง

เป็นที่แน่นอนแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิคแล้ว หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ปี 2565 ของสหรัฐหดตัว 0.9% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ที่ GDP หดตัว 1.6%

สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลหลังจากนี้คือ เศรษฐกิจชาติอื่นจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตามหลังจากนี้ เช่น สหภาพยุโรป (EU) และจะนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ที่จะมาซ้ำเติมผลกระทบวิกฤติโควิด-19 ที่ยังไม่ยุติ

สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่หนักหน่วงขึ้น เมื่อวิกฤติโควิด-19 สร้างความบอบช้ำให้ประเทศตั้งแต่ปี 2563-2565 และมาซ้ำเติมด้วยวิกฤติพลังงานที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 ปี 2565 และกำลังมาเจอวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอยที่กำลังทำให้การส่งออกของประเทศไทยชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และอาจทำให้การท่องเที่ยวไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยรวมแล้วความคาดหวังต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 จะทำได้ยากมากขึ้น

สิ่งที่น่ากังวลไม่ได้มีเฉพาะผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 วิกฤติพลังงานหรือวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ความกังวลกลับมาอยู่ที่ความสามารถในการรับมือสถานการณ์ระดับวิกฤติของรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงนับถอยหลังก่อนรัฐบาลครบวาระในอีกไม่ถึง 10 เดือน คือ การตัดสินใจของรัฐบาลที่ให้น้ำหนักกับการมองผลทางการเมือง

นั่นจึงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินช่วงวิกฤติซ้อนวิกฤติทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพียงพอที่จะขับเคลื่อนประเทศให้พ้นความยากลำบากนี้ไปได้ในแบบที่ควรจะเป็น

รัฐบาลจำเป็นต้องตระหนักอย่างมากถึงสถานการณ์วิกฤติซ้อนวิกฤติ ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจอาจไม่เพียงพอ

ถึงแม้จะพยายามใช้กลไกสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์วิกฤติ แต่รูปแบบการตั้งคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจประเทศดูเหมือนจะไม่ได้ผลที่ดีนัก โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่แทบจะไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคร่วมรัฐบาล และ ครม.เศรษฐกิจถูกลดบทบาทในที่สุด

หัวหน้ารัฐบาลที่ทำหน้าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจด้วยจึงต้องหารือทีมเศรษฐกิจให้กระจ่างว่า ประเทศไทยควรรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างไร และหากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่ตอบสนองนโยบาย เชื่อว่านายกรัฐมนตรีรู้ว่าควรจัดการอย่างไร

การปรับ ครม.ที่อาจจะเกิดขึ้นก็อาจทำให้ได้ผู้ที่เหมาะสมกับภาวะวิกฤติเข้ามาทำงาน และที่สำคัญคือ ปัญหาการเมืองไม่ใช่ปัญหาของประเทศ เพราะปัญหาของประเทศในขณะนี้คือ ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติพลังงาน และวิกฤติโควิด