เจาะกลยุทธ์ ‘เถ้าแก่น้อย-มาชิตะ’ หาโอกาสในตลาดสแน็คสาหร่าย

เจาะกลยุทธ์ ‘เถ้าแก่น้อย-มาชิตะ’  หาโอกาสในตลาดสแน็คสาหร่าย

สีสันตลาดสแน็คส่วนใหญ่มีเพียง “มันฝรั่งทอด” ที่โหมการสื่อสารตลาด จัดกิจกรรมต่างๆ ส่วนหมวดอื่นอาจไม่คึกคักมากนัก แต่เข้าสู่ครึ่งปีหลัง บิ๊กแบรนด์สแน็คสาหร่าย “เถ้าแก่น้อย-มาชิตะ” ตบเท้าออกอาวุธเต็มที่

เกมกลยุทธ์ของ 2 แบรนด์ มีความต่างอย่างสิ้นเชิงในขณะนี้ เริ่มจากเจ้าตลาดอย่าง “เถ้าแก่น้อย” ซึ่งเจอมรสุมลูกใหญ่จากพิษสงของวิกฤติโควิด-19 ระบาด ตลาดส่งออกอย่าง “จีน” และกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนหายวับไปกับตา จนบริษัทต้องปรับกระบวนท่าใหม่ ปิดหน้าร้านหรือช็อปที่เคยทำเงินจากนักท่องเที่ยว กระจายความเสี่ยงสู่เครื่องดื่ม “ชานมไต้หวัน” เป็นต้น

ขณะที่วางจุดยืนขอแกร่งเป็นผู้นำในตลาดสาหร่ายเกาหลี “อบกรอบ” ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภครักสุขภาพ และเน้นกลยุทธ์ความร่วมมือ(Collaboration :X) กับแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะ “ร้านอาหาร” ที่มีเมนูสไตล์เกาหลี ทำให้ “มาชิตะ” สร้างความโดดเด่นอย่างดี ยิ่งกว่านั้นผลลัพธ์การเติบโตยอดขายยังตามมาด้วย

สำหรับครึ่งปีหลัง 2 แบรนด์ใหญ่ มีกลยุทธ์อะไรบ้าง ต้องติดตาม

เถ้าแก่น้อย “GO Board” รับตลาดต่างแดนฟื้น

อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ฉายภาพ หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลาย มีการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางและเปิดประเทศรับชาวต่างชาติ ส่งผลดีให้กำลังซื้อผู้บริโภคฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่าจะเอื้อให้การจำหน่ายสินค้าทั้งห้างค้าปลีก( Modern Trade :MT) และร้านค้าทั่วไป(Traditional Trade : TT) ช่วงครึ่งปีหลังเติบโตอัตรา 2 หลัก

แม้ความเปราะบางยังเป็นภาวะ “เงินเฟ้อสูง” แต่บริษัทเตรียมรับมือรอบด้าน โดยเฉพาะการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารงบอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ยังลุยกลยุทธ์ “Go Firm” มุ่งปรับองค์กรให้กระชับ (Lean) คล่องตัวและรวดเร็วขึ้น มุ่งลดต้นทุน สร้างความยืดหยุ่นพร้อมรองรับแผนงานในอนาคต

นอกจากนี้ ยังเดินกลยุทธ์ “GO Board” หรือการขยายฐานธุรกิจให้กว้างขึ้น ด้วยการพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่ๆ มุ่งเน้นขยายตลาดในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ ได้แก่ ประเทศจีน ซึ่งเริ่มมีการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ ทำให้มียอดขายสินค้าที่เพิ่มขึ้น และคาดว่ายอดคำสั่งซื้อจากจีนในครึ่งปีหลังจะเข้ามามากกว่า 100 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน สูงขึ้นเท่าตัว จากครึ่งปีแรกที่มียอดคำสั่งซื้อเฉลี่ย 100 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน จีนเป็นตลาดสำคัญ บริษัทจึงแต่งตั้งผู้จัดการทั่วไปเพื่อดูแลตลาดประจำพื้นที่ด้วย 

เจาะกลยุทธ์ ‘เถ้าแก่น้อย-มาชิตะ’  หาโอกาสในตลาดสแน็คสาหร่าย

“เราตั้ง GM ซึ่งเป็นคีย์แมนสำคัญในการบริหารจัดการและวางแผนการตลาดควบคู่กับตัวแทนจำหน่ายสินค้า 2 รายในประเทศจีน”

ส่วนตลาดในสหรัฐฯ ได้นำแบรนด์ใหม่ “NORA” (โนระ)​ ภายใต้ผลิตภัณฑ์สาหร่ายของเถ้าแก่น้อยเพื่อทำตลาด พร้อมกระจายสินค้าผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด​และซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ และได้การรับดี จนมียอดคำสั่งซื้อในไตรมาส 2 ติบโตเกือบ 60% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (New High) นับตั้งแต่เริ่มทำการตลาดปี 2561

หนึ่งในแรงส่งการเติบโตมาจากการมุ่งเน้นเจาะตลาดหลัก(Mainstream) ที่เป็นผู้บริโภคชาวอเมริกันในท้องถิ่น รวมถึงการเพิ่มช่องทางขายผ่านร้านค้าเครือใหญ่ ซึ่งไตรมาส 3 หรือ 4 จะเข้า ‘เทรดเดอร์โจส์’ (Trader Joe's) ที่มีกว่า 500 สาขาในสหรัฐฯ และจะเริ่มขยายตลาดแบรนด์โนระเข้าสู่ประเทศแคนาดา ผ่านห้างคอสโค (Costco) ส่วนตลาดยุโรป บริษัทฯ อยู่ระหว่างหาพันธมิตรเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า

“ปัจจุบันสินค้าจากเอเชียเข้าไปตีตลาดประเทศในแถบยุโรปมากขึ้น ผ่านการจัดจำหน่ายในร้านโมเดิร์นเทรด บริษัทจึงมองโอกาสใช้แบรนด์ใหม่โนระ (NORA) เสิร์ฟกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งตลาดยังไม่มีคู่แข่ง ด้วยจุดแข็งแบรนด์หลักเถ้าแก่น้อยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ส่งผลทำให้มียอดคำสั่งซื้อเข้ามา และคาดว่าจะเติบโต 4 - 5 ปีต่อเนื่อง เหมือนกับตลาดจีน”

ย้ำ Idol Marketing ปั๊มยอดขายในประเทศ

การทำตลาดในประเทศ ใช้กลยุทธ์ Idol Marketing ซึ่งเป็นอาวุธหลักที่บริษัทให้ความสำคัญมาตลอด เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่เป็นแฟนคลับต่างๆ สร้างการมีส่วนร่วม(Engagement)กับกลุ่มแฟนคลับ มากกว่าการขายสินค้าเพียงอย่างเดียว โดย เจาะกลยุทธ์ ‘เถ้าแก่น้อย-มาชิตะ’  หาโอกาสในตลาดสแน็คสาหร่าย

ดึง “วิน เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร” นักแสดงหนุ่มสุดฮอตมาเป็นพรีเซ็นเตอร์

นอกจากนี้ บริษัทได้เพิ่มพอร์ตสินค้าใหม่ๆ ในกลุ่มสาหร่ายอบ ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ฟื้นตัวโดดเด่นที่สุด เนื่องจากเป็นสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพ และผู้บริโภคคนไทยนิยมทานตามกระแสซีรีย์เกาหลี จึงร่วมกับ “BT21” ตัวการ์ตูนของ LINE FRIENDS ที่ออกแบบโดยวงไอดอลเกาหลีชื่อดังระดับโลก “BTS” ในการทำตลาดเพื่อผลักดันธุรกิจสาหร่ายเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10%

ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย บริษัทฯ ได้เพิ่มช่องทางขายผ่านการไลฟ์สด (Live) ตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2565 รับเทรนด์ฮอตของการค้าขาย E-Commerce พร้อมดึงนักแสดงคู่จิ้นมาเป็นผู้นำเสนอสินค้าผ่านหลายแพลตฟอร์มออนไลน์พร้อมกันในหลายประเทศ เช่น ไทย และจีน เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้า โดยวางแผนเพิ่มความถี่จากเดือนละ 1 ครั้ง เป็น 2 ครั้ง และคาดว่าจะพัฒนาเป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักในการสร้างยอดขายและขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ในอนาคต

มาชิตะ ลุยต่อ X ร้านอาหารพัฒนาสินค้าใหม่

แนวทางการทำตลาดของมาชิตะ แบรนด์สาหร่ายทะเลอบกรอบยอดขายอันดับ 1 ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ Partnership Marketing เพื่อปลุกตลาดสาหร่าย ล่าสุดจับมือ “เชสเตอร์” (Chester’s) ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดสัญชาติไทย นำเมนูขายดีอันดับ 1 ของร้าน ผสานกับสาหร่ายทะเลอบกรอบ จากประเทศเกาหลี 100% สู่รสชาติใหม่ “ข้าวไก่กรอบซอสน้ำปลา” เสิร์ฟความอร่อยสุขภาพดี แบบไม่ใส่ผงชูรส (No Monosodium Glutamate) ช่วยสร้างความคึกคักให้ตลาดครึ่งปีหลัง

เจาะกลยุทธ์ ‘เถ้าแก่น้อย-มาชิตะ’  หาโอกาสในตลาดสแน็คสาหร่าย ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เล่าว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สาหร่ายมาชิตะ ได้ใช้กลยุทธ์มีแนวทางการทำตลาดแบบ Partnership Marketing โดยเฉพาะการร่วมกับร้านอาหารชั้นนำ เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคในวงกว้าง และมีเมนูยอดฮิตสไตล์เกาหลี นำมาผสมผสานเกิดเป็นรสชาติที่แปลกใหม่ อาทิ บอนชอน, ซูกิชิ, ทูดาริ, ฮะจิบังราเมน ฯลฯ ที่สอดคล้องกับจุดขายของมาชิตะ ซึ่งผลิตจากสาหร่ายพรีเมี่ยมจากเกาหลี 100% เพื่อสร้างสรรค์สินค้ารสชาติใหม่โดนใจกลุ่มผู้บริโภคแบบไม่ใส่ผงชูรส

สำหรับสาหร่ายทะเลอบกรอบสไตล์เกาหลี รสข้าวไก่กรอบซอสน้ำปลา ที่มาชิตะร่วม Collab กับร้านเชสเตอร์ เป็นสินค้าลิมิเต็ด อิดิชั่น วางจำหน่าย 3 เดือน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา และจำหน่ายหน้าร้านเชสเตอร์ (Chester’s) ที่มีบริการมากกว่า 60 สาขาทั่วประเทศ

"การรุกทำตลาดของมาชิตะอย่างต่อเนื่องบริษัทฯ มีเป้าหมายจะรักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดสาหร่ายอบ ผลักดันตลาดสาหร่ายให้ขยายตัวเติบโตขึ้น"

ที่สำคัญเป็นภารกิจของแบรนด์ ในการตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นสาหร่ายเกาหลี 100% หรือ Korean Expert ทั้งคุณภาพสาหร่ายและกรรมวิธีการผลิต ที่สร้างสรรค์ความอร่อยและความสนุกสนานผ่านรสชาติใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคไม่มีเบื่อ ที่สำคัญช่วยผลักดันให้ “มาชิตะ” ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย ด้วยการมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 19.3% (จาก 17.9%) จากตลาดรวมสาหร่ายมีมูลค่าประมาณ 2,146 ล้านบาท (เติบโต 9%)