ส.อ.ท.หวั่นวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอย “ฉุดกำลังซื้อ”

ส.อ.ท.หวั่นวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอย “ฉุดกำลังซื้อ”

ส.อ.ท.เตือนรับมือวิกฤติอีกระลอกจากคลื่นเศรษฐกิจโลกถดถอย สหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75-1% ส่งผลค่าเงินเอเชียอ่อนค่ากระทบการนำเข้าวัตถุดิบ ห่วงสหรัฐจ่อลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนกระทบส่งออกไทย เผยสัญญาณคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศลดลง

ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอยเร็วกว่าที่คาด ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศเจอปัญหาเงินอ่อนค่า อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนของภาคการผลิต โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของหลายประเทศมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ทำสถิติใหม่สูงสุดในรอบ 40 ปี สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ 9.1% ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง 0.75-1% ในการประชุมเดือน ก.ค.นี้ ทำให้กรอบอัตราดอกเบี้ยนโยบายขยายขึ้นจากเดิม 3.4% เป็น 4% ตลอดทั้งปี

ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าส่งผลกระทบต่อค่าเงินในภูมิภาคอื่นๆ ในเอเชียรวมถึงค่าเงินบาทไทยที่อ่อนค่าลงแล้วประมาณ 7% ทำให้ทุกอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนทุกประเภท อาทิ เครื่องจักร ต้องประสบปัญหาสองเด้งคือซื้อในราคาแพงขึ้นจากค่าเงินบาทอ่อนค่าและภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีกับผู้ส่งออกรวมถึงผู้นำเข้าที่มีตลาดในต่างประเทศ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหนักคืออุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบและมีตลาดหลักในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าควบคุมที่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้นได้ อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำให้ผู้ประกอบการต้องเลือกผลิตในปริมาณที่น้อยลงเพื่อลดปริมาณความสูญเสีย

สำหรับยอดการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของไทย ตัวเลขยังขยายตัวได้ดี เฉลี่ยแล้วขยายตัวเกิน 10% โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ว่าปี 2565 ยอดส่งออกของไทยจะโต 5-7% แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์ครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิดว่าจะกระทบกับผู้ส่งออกของไทยมากน้อยเพียงใด เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังสูงขึ้น รวมทั้งสงครามยูเครนที่ยังยืดเยื้อและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงอาจทำให้เศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง

ห่วงแนวโน้มคำสั่งซื้อลดลง

ทั้งนี้ การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบและการออกมาตรกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาในประเทศ 6-10 ล้านคนตลอดทั้งปี จะช่วยเพิ่มความต้องการค่าเงินบาทและหน่วงราคาค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยขณะนี้ ส.อ.ท.กำลังทำการสำรวจว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทอย่างไรบ้าง รวมถึงปริมาณคำสั่งซื้อ ซึ่งหลายอุตสาหกรรมส่งออกให้ความเห็นว่าปริมาณคำสั่งซื้อเริ่มแผ่วลง ยกเว้นอุตสาหกรรมอาหารที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 ล้านล้านบาท อยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่าสหรัฐจะดำเนินมาตรการลดกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้ไทยเสียประโยชน์ จากเดิมในช่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้สหรัฐหันมาค้าขายกับไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้นการลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

สศอ.เร่งประเมิน ศก.โลกถดถอย

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า สศอ.อยู่ระหว่างการประเมินว่ากำลังการผลิตช่วงครึ่งปีหลังของไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยค่อนข้างน้อยโดยคาดว่ากำลังการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จะอยู่ในระดับเดียวกับปี 2564 โดยคาดว่ากำลังการผลิตเฉลี่ยทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 63.00

โดยเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และภาคการส่งออกโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤติความมั่นคงทางอาหารของโลก โดยคาดว่าในปีนี้การส่งออกอาหารแปรรูปจะสร้างมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท และจะเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ส่งผลต่อกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยนั้นส่วนใหญ่ได้ส่งกระทบต่ออุตสหากรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนอุปทาน (Supply Shortage) โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์และสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ แต่เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในไม่ช้า

ราคาพลังงานสูงดันต้นทุนสูงขึ้น

สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 101.17 ขยายตัว0.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต 5 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 64.11

ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.2565 อยู่ที่ 98.05 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 7.46% มีอัตราการใช้กำลังผลิตที่ 62.42% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 19.97% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและการเปิดประเทศ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและการอ่อนค่าของเงินบาทช่วยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัว

ทั้งนี้ สถานการณ์ความไม่สงบของรัสเซียและยูเครนมีผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ขณะเดียวกันภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.ขยายตัวที่ 11.8% เร่งตัวขึ้นจากเดือน เม.ย.ขยายตัวที่ 11.4%