เปิดเหตุผล BTS ไม่ประมูลสายสีส้ม เมกะโปรเจคส่งท้ายของรัฐบาล

เปิดเหตุผล BTS ไม่ประมูลสายสีส้ม  เมกะโปรเจคส่งท้ายของรัฐบาล

“บีทีเอส” ปัดเข้าร่วม ชี้ปรับเงื่อนไขกีดกันร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมกะโปรเจคส่งท้ายรัฐบาลชุดนี้ ชี้เงื่อนไขกีดกันผู้เข้าร่วมยื่นซอง “บีอีเอ็ม” ชูประสบการณ์ตามเงื่อนไข “ไอทีดี” ผนึกเกาหลียื่นซอง

การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกรอบที่ 2 ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาว่าการยกเลิกประมูลรอบที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดียังอยู่ในชั้นการอุทธรณ์

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้มีการยื่นซองประมูลวานนี้ (27 ก.ค.) โดยมีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย คือ

1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน)

2.ITD Group ประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และ Incheon Transit Corporation บริษัทเดินรถจากประเทศเกาหลีใต้

ทั้งนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ไม่ได้เข้าร่วมยื่นซองประมูล

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า กรณี รฟม.เปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าใจว่า เรื่องนี้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ยกเลิกการประมูลและประกาศ รฟม.ที่ยกเลิกการประมูลโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 แล้วเนื่องจากเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องกลับไปใช้ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนตามหลักเกณฑ์การประมูลโครงการครั้งเดิมเดือน ก.ค.2563

“ทางเราเชื่อว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่น่าจะถูกกฎหมาย และน่าจะขัดกับมติคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดการจำกัดการแข่งขัน และทำให้ รฟม.เองเสียโอกาสที่จะได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุดจากการจำกัดแข่งขันในการประมูลดังกล่าวทั้ง TOR และ RFP ที่ออกมากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรไม่ให้เข้าร่วมประมูล” นายคีรี กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทฯ พร้อมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขความถูกต้องเป็นธรรมและให้ผลประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ศึกษารายละเอียด TOR และ RFP ฉบับใหม่พบว่ากำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขแตกจากเดิม และเป็นเงื่อนไขที่มีข้อกำหนดด้านคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ที่กีดกันการแข่งขัน ซึ่งส่งผลให้เอกชนที่เคยมีคุณสมบัติและเข้าประมูลได้ที่ผ่านมากลับไม่สามารถเข้าประมูลในครั้งนี้ได้ 

“เป็นการกระทำที่อาจถือได้ว่ามีเจตนากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรไม่ให้เข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดจนอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ตลอดจนขัดต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดมติคณะรัฐมนตรี และคำพิพากษาศาลปกครอง”

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีวงเงินลงทุนรวม 145,265 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,621 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 40 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโยธา 3,223 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานระบบรถไฟฟ้า 369 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 96,012 ล้านบาท และค่างานระบบและขบวนรถ 31,000 ล้านบาท

โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)