Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 25 July 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 25 July 2022

ราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน หลังตลาดจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในจีน

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 90-100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 98 - 108 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 25 July 2022

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25-29 ก.ค.65) 

      ราคาน้ำมันดิบคาดมีความผันผวนในกรอบแคบ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75 – 1.00 % ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่พบผู้เชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้น และล่าสุดจีนกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดตามนโยบายปลอดโควิดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศอีกครั้ง ส่งผลต่อการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก ขณะที่ตลาดน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ตึงตัว และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปริมาณความต้องการน้ำมันดิบที่เพิ่มมากขึ้น
 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-   การประชุมคณะกรรมการกลางนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) วันที่ 26-27 ก.ค. 65 ตลาดคาดการณ์ว่า FED อาจะมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75 – 1.00 % สู่ระดับที่ 2.25 – 2.75 % เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อภายหลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  โดยล่าสุดตัวเลขเดือน มิ.ย. 65 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 9.1%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ( y-o-y) ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น

-  ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 1 คาดว่าจะกลับมาเปิดดำเนินการที่ระดับ 30 % ของกำลังการผลิต หลังจากปิดปรับปรุงระหว่างวันที่ 11 – 21 ก.ค. อย่างไรก็ตามสหภาพยุโรปมีความกังวลว่ารัสเซียอาจจะไม่ส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของยุโรป ทำให้สหภาพยุโรปมีมติเสนอให้ชาติสมาชิกลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติ 15 % ในระหว่างเดือน ส.ค. 65 – มี.ค. 66  เทียบกับปริมาณการใช้เฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้า  

-  ตลาดน้ำมันดิบยังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานที่ตึงตัว ภายหลังการประชุมระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และมกุฏราชกุมาร บิล ซัลมาน ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ยังไม่สามารถหาข้อตกลงได้ เนื่องจากซาอุดิอาระเบียกล่าวว่าการเพิ่มกำลังการผลิตนั้นจะต้องมีการหารือภายในประเทศกลุ่มโอเปคและชาติพันธมิตร (OPEC+) และกำลังการผลิตสำรอง (Spare capacity) อยู่ในระดับที่ต่ำ
 

-  ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังผู้ผลิตปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบ โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรามชาติสำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 15 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 4 แท่นสู่ระดับ 756 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ มี.ค. 63 ล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 12.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 4/65 ซึ่งสูงกว่าปริมาณการผลิตในช่วงปัจจุบันที่ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในจีนยังคงรุนแรง หลังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง ล่าสุดจากการรายงานพบผู้ติดเชื้อสูงกว่า 1,000 ราย เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือน พ.ค. ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลว่ารัฐบาลจีนอาจจะประกาศล๊อกดาวน์ครั้งใหม่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งมีผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจ โดยล่าสุดสถาบันการเงินหลายแห่งปรับลดตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ที่ 3.4 % ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 5.5 % ขณะเดียวกันจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

-  ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 15 ก.ค. ปรับลดลง 0.78 ล้านบาร์เรล มากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าที่ปรับตัวลดลง 0.26 ล้านบาร์เรล โดยคาดว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ จะยังคงลดลงต่อเนื่องจากปริมาณความต้องการน้ำมันดิบที่เพิ่มมากขึ้น

-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 26-27 ก.ค. 65 คาดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และตัวเลขจีดีพีของเยอรมนีและญี่ปุ่น

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-22 ก.ค. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 7.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 94.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 5.94 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 103.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 102.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงสนับสนุนจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ดึงดูดผู้ที่ถือเงินสกุลอื่นมีความสนใจลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบมากขึ้น กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบไม่ได้คำมั่นชัดเจนว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตภายหลังการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และความกังวลต่อการหยุดส่งก๊าซธรรมชาติของรัสเซียผ่านทางท่อ Nord Stream 1 ภายหลังสิ้นสุดการซ่อมบำรุงในวันที่ 21 ก.ค. 65