แบงก์ตั้งการ์ด รับ‘เศรษฐกิจโลกถดถอย’ ตุนสำรองพุ่ง

แบงก์ตั้งการ์ด รับ‘เศรษฐกิจโลกถดถอย’ ตุนสำรองพุ่ง

แบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ เตรียมรับมือวิกฤติ เหตุ มีปัจจัยเสี่ยงที่มีความไม่แน่นอนทั้งใน -ต่างประเทศ “กสิกรไทย” เชื่อสามารถรองรับวิกฤติได้ หลังสำรองสูงอันดับต้นๆ "กรุงไทย" ชี้ หนทางรับมือวิกฤติ ต้องทำแบงก์ให้ยืดหยุ่น "ไทยพาณิชย์ "สำรองเพิ่ม 2.5พันล้าน


      นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย  (KBANK) เปิดเผยว่า การเตรียมตั้งรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หรือภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในระยะข้างหน้า วันนี้เชื่อมั่นว่าแบงก์เอาอยู่ และสามารถรองรับปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบได้

       ทั้งนี้หากดูการตั้งสำรองที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยถือว่าเป็นแบงก์ต้นๆที่สำรองสูงที่สุด ดังนั้นแม้จะเกิดปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ ก็เชื่อว่าสำรองแบงก์ที่มีอยู่ จะทำให้เรารับปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาได้ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่ม

       “จริงๆเราเจอวิกฤติมาโดยตลอดตั้งแต่โควิด ดังนั้นเชื่อว่าแบงก์เอาอยู่ แต่การทำงานของแบงก์ยังอยู่ภายใต้การระมัดระวังต่อไป และวันนี้ยังไม่มีแผนรองรับพิเศษหรือปรับแผนธุรกิจ”

ปรับตัวให้ยืดหยุ่นรับปัจจัยเสี่ยง

      นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า การรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า สิ่งที่แบงก์ทำได้ คือต้องทำตัวเองให้ยืดหยุ่น และดำเนินการต่างๆต้องทำให้เร็วขึ้น เพื่อให้แบงก์มีศักยภาพมากขึ้นในการเตรียมพร้อมรับกับความเสี่ยงต่างๆ

      ขณะที่ด้านสำรอง เชื่อว่ายังอยู่ในแผนเดิมยังไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่ม และเชื่อว่าระบบแบงก์ เอง ก็มีความพร้อม และความแข็งแกร่งเพียงพอในการรองรับปัจจัยเสี่ยงข้างหน้า ทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาเงินเฟ้อ และผลจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะข้างหน้า
 

ตั้งสำรองเผื่อเกิดปัจจัยเสี่ยง2.5พันล้าน

     นายมาณพ เสงี่ยมบุตร Chief Finance & Strategy Officer  บมจ.เอสซีบี เอกซ์  (SCB)และ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หากมองในระยะข้างหน้า แบงก์มองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงความผันผวนค่อนข้างมาก จากปัจจัยภายนอก ทั้งจากสงครามรัสเซีย กับ ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อ แนวโน้มเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ

       ดังนั้นสิ่งที่แบงก์ทำไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 คือการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 2,500 ล้านบาท ทำให้การตั้งสำรองในไตรมาส2โ ดยรวมของแบงก์มาอยู่ที่ 10,250 ล้านบาท

      ซึ่งเป็นการตั้งสำรองเพื่อป้องกันไว้ก่อน แม้จะยังไม่เห็นความเสียหาย ซึ่งถือเป็นการดำเนินการอย่างระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า

     โดยหากเหตุการณ์ข้างหน้าไม่ได้แย่เหมือนที่คาดไว้ แบงก์ก็ไม่จำเป็นต้องสำรองมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามต้องประเมินความเสี่ยงและข้อมูลใหม่ๆที่เข้ามาตลอดเวลา

      ขณะที่ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อ วันนี้ถือว่าลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้วันนี้แบงก์ปรับลดหนี้เสียปีนี้ลงเหลือ 3.6% จากเดิมที่คาดไว้ 4% ปีนี้

    ดำเนินธุรกิจบนหลักของการระมัดระวัง

     นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ  (BBL)กล่าวว่า ปกติธนาคารจะประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ล่วงหน้าอยู่พอสมควร เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางธุรกิจได้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

     ซึ่งธนาคารตระหนักถึงความเสี่ยงที่ยังมีความไม่แน่นอน เช่น อัตราเงินเฟ้อสูงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ส่งผลให้ค่าครองชีพและต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ตลาดการเงินที่ผันผวนจากความไม่แน่นอนที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ

     รวมถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่ธนาคารยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

      “สถานการณ์เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกที่อาจจะยังมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น โดยเฉพาะความผันผวนในตลาดการเงินและเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ธนาคารเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่องมาตลอด เพราะจะมีผลต่อการกำหนดแนวทางธุรกิจในระยะต่อไป”

      ทั้งนี้ หากดูจากผลประกอบการที่ไตรมาส 2ที่ผ่านมา ธนาคารยังคงยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 232.5% ขณะที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ปัจจุบันอยู่ระดับสูงถึง 18.9%

ตุนสำรองส่วนเกินสูง

     นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (TISCO) กล่าวว่า หากมองไปข้างหน้า เชื่อว่ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น ทั้งค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น การปรับดอกเบี้ย เศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงถดถอย ดังนั้นแบงก์เองต้องพยายามช่วยเหลือลูกค้ามากขึ้น ที่ยังไม่พร้อมรับกับความเสี่ยงดังกล่าว

      ส่วนในด้านการดำเนินการแบงก์ทิสโก้เองให้หลักระมัดระวังมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตั้งสำรองระดับสูง และมีสำรองส่วนเกินไว้ค่อนข้างมาก เพื่อรองรับดอกเบี้ยขาขึ้น หรือ ช็อคที่อาจเข้ามาใหม่ๆ ส่งผลให้วันนี้สำรองส่วนเกินของแบงก์ สูงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 253 % เมื่อเทียบกับ หนี้เสีย ดังนั้นเชื่อว่าแบงก์เองจะสามารถรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะข้างหน้า

     ประเมินสถานการณ์-สำรองที่เหมาะสม

      นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT) กล่าวว่า จากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ถือเป็นตัวเร่งที่ทำให้ธนาคารต้องเตรียมแผนรองรับวิกฤติอย่างมีศักยภาพ ในการดูแลลูกค้า ดูแลงบการเงินของธนาคาร

      ซึ่งในฐานะที่เป็นสถาบันการเงิน แบงก์ก็ยังมุ่งมั่นจะสนับสนุนลูกค้าในประเทศไทยให้ก้าวผ่านช่วงเวลาลำบากไปต่อไป

    ส่วนสำรองที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ ในการรองรับวิกฤติ ถือเป็นคำตอบที่ยาก เพราะไม่รู้ว่าปัจจัยเสี่ยงข้างหน้าจะเป็นอย่างไร รุนแรงมากน้อยแค่ไหน

     ดังนั้นสิ่งที่แบงก์ทำได้คือ การประเมินสถานการณ์ และตั้งสำรองที่เหมาะสม ให้เหมาะกับคุณภาพลูกหนี้แต่ละกลุ่ม

รอพิจารณาผลกระทบ

      นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกอาจจะกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่กรณีเศรษฐกิจของไทยนั้น มองว่า กำลังอยู่ในภาวะที่ทยอยฟื้นตัว โดยปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่น คือ เราเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยว และขณะนี้ ธุรกิจการท่องเที่ยวเพิ่งเปิด ฉะนั้น จึงมีปัจจัยที่ดีกว่าหลายประเทศ

       ทั้งนี้หากเศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจริง และมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แน่นอนว่า จะต้องมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ซึ่งก็ต้องพิจารณาอีกครั้งว่า ผลกระทบจะลากยาวแค่ไหน

      “ในชีวิตจริงจะมีเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ย ถ้าคนอื่นเข้าสู่ Recession กันหมด เราก็กระทบ ถ้าดอกเบี้ยขึ้นแรง ซึ่งขึ้นแรงอยู่แล้ว เราก็กระทบ ทีนี้ก็ต้องดูว่า กระทบยาวแค่ไหน ดอกเบี้ยที่ขึ้นไป ต้นปีหน้า จะคุมเงินเฟ้ออยู่ไหม ถ้าคุมอยู่ ดอกเบี้ยก็ไม่ขึ้นสูงมาก อาจจะทยอยลง ผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่กระทบแน่ ก็อาจจะสั้น”

หน้าที่รัฐต้องทำใหเผลกระทบไม่รุนแรง

      นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)กล่าวว่า ตอนนี้เศรษฐกิจทั้งโลกถือว่าถดถอยหมด เพียงแต่ในบริบทของประเทศก็เกิดขึ้นแน่

      แต่ถามว่า มันจะเหมือนกันกับตลาดโลกไหม มันไม่ใช่ เพราะประเทศไทยนั้น ประเด็นคือว่า อาหารทั้งหมดเราผลิตได้เอง มีประเด็นเดียว คือ น้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนที่จะพาไปหาดอกเบี้ย โดยในเรื่องของน้ำมันนั้น ในตลาดโลกเริ่มลดลง

      ดังนั้น ตรงนี้ก็จะผ่อนคลายลง ขณะที่ การบริโภคในประเทศในเรื่องของอาหารเราไม่มีปัญหา ดังนั้น โครงสร้างเศรษฐกิจเราแข็งแรงที่จะต้านปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจโลกได้

      นอกจากนี้ ในเรื่องของภาวะดอกเบี้ยนั้น ในกลไกของแบงก์รัฐที่มีอยู่ที่ยังชะลอหรือว่ามีมาตรการจากแบงก์ชาติเข้ามาช่วย รวมถึง นโยบายของรัฐบาลในการที่จะไม่ทำให้กระบวนการ recession มันรุนแรงเหมือนกับโลก ดังนั้นมองว่า ยังไงก็ไม่มีปัญหามาก และแบงก์รัฐเองก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแลลูกค้า

     “ต้องมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 59 หรือปี 39 ตอนนั้นสาหัสกว่านี้เยอะ ดังนั้นเมื่อสามารถผ่านในช่วงของภาวะดอกเบี้ยตรงนั้นมาได้ ทุกวันนี้แข็งแรงหมดแล้ว แต่ว่าสิ่งที่มีมากระทบแล้วทำให้เกิดอาการเซบ้างเป็นในกลุ่มที่หลังจากที่เราผ่านไครซิสปี 39 มาแล้ว คุณเริ่มไม่มีวินัยเหมือนเดิม แต่คนที่มีวินัยทุกคนยังแข็งแรงพอที่จะรอด”

 เชื่อศก.ไทยเติบโต   

      นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) มองว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ แต่จะมีอัตราเร่งที่น้อยลง และไม่มองว่า อยู่ในภาวะถดถอย

    โดยภาคการส่งออกแม้จะไม่เติบโตได้ถึง 15-16% แต่จะเหลือ 7% ซึ่งก็ยังถือว่า เติบโตอยู่ ในภาพรวมของจีดีพียังโตในแนว 3%

     สำหรับในการปรับตัวนั้น เราต้องปรับไปในโลกที่ต้องการ อย่างเช่น อาหาร ซึ่งไทยเป็นเจ้าพ่อ จะขายอาหารบ้านๆไม่ได้แล้ว เช่น ขายมาม่าอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องขายมาม่าที่ใส่วิตะมินเข้าไปด้วย ภาพพรวกนี้ ต้องเอานวัตกรรมไปจับในสินค้าปฐมภูมิของเรา ถึงจะกลับมาสู่ได้