KBANK จับมือ CBG เจาะลูกค้าชุมชน โบรกฯ คาดเพิ่มอัพไซด์ 0.4-0.7%

KBANK จับมือ CBG เจาะลูกค้าชุมชน โบรกฯ คาดเพิ่มอัพไซด์ 0.4-0.7%

การทำธุรกิจในปัจจุบันจะอิงจากตำราอย่างเดียวไม่ได้ เพราะในชีวิตจริงนั้นมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ แต่ละบริษัทแต่ละธุรกิจต้องหากลยุทธ์ที่เหมาะสมกับตัวเอง

การมีพันธมิตรที่ดีถือเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับความสำเร็จ เปรียบเสมือนมีเพื่อนคู่ใจเข้ามาช่วยเติมเต็ม เสริมเขี้ยวเล็บให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทุกวันนี้การที่ธุรกิจจะเติบโตเพียงลำพังไม่ใช่เรื่องง่าย ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ผู้บริโภคหลากหลายขึ้น และพร้อมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมตลอดเวลา

อีกหนึ่งดีลใหญ่ล่าสุดที่เกิดขึ้นในตลาดทุนไทยเป็นการผนึกความร่วมมือกันระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ ในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และค้าปลีก โดยธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ได้จับมือกับกลุ่มบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด (KBAO) ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท

โดยธนาคารกสิกรไทยจะถือหุ้นใหญ่มากกว่า 50% ผ่านบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVISION) ส่วนกลุ่มคาราบาวส่งบริษัท ทีดี เวนเจอร์ จำกัด (TDV) เข้าถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนใหม่ โดย TDV ประกอบด้วย บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด (TD) ถือหุ้น 70%, บริษัท ซี.เจ. เอ็กเพรส กรุ๊ป จำกัด (CJ) ถือหุ้น 15% และ CBG ถือหุ้น 15%

สำหรับ KBAO จะให้บริการทางด้านการเงิน ปล่อยสินเชื่อให้กับร้านค้าปลีกในกลุ่มคาราบาว โดยปล่อยกู้ให้กับเจ้าของร้าน พันธมิตรทางธุรกิจ ผู้เช่าพื้นที่ในร้าน จนไปถึงลูกค้าที่เป็นสมาชิก ถือเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนซึ่งเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย

KBANK จับมือ CBG เจาะลูกค้าชุมชน โบรกฯ คาดเพิ่มอัพไซด์ 0.4-0.7%

ปัจจุบันเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกของคาราบาวกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดย CJ เป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ “ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต” ซึ่งมีอยู่มากกว่า 800 สาขา ใน 34 จังหวัด มีสินค้ามากกว่า 10,000 รายการ โดยในร้านจะมีสินค้าแบรนด์อื่นๆ ในเครือรวมอยู่ด้วย

ทั้ง “นายน์ บิวตี้” เป็นสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง, “บาวคาเฟ่” ขายกาแฟ เครื่องดื่ม, “อูโนะ” จำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ เครื่องเขียน และ “เอ-โฮม” กลุ่มเครื่องมือช่าง อุปกรณ์ทำสวน ของใช้ในครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า

และอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ ยกระดับร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ที่บริหารงานโดย TD ซึ่งถือเป็นร้านค้าชุมชนอย่างแท้จริง โดยทางธนาคารกสิกรไทยจะเข้าไปช่วยพัฒนาระบบเทคโนโลยีการจัดการภายในร้าน ระบบชำระเงิน การให้บริการธุรกรรมทางการเงิน ฝาก ถอน จ่ายบิล

รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งสามารถพิจารณาจากข้อมูลการใช้จ่ายได้หากลูกค้าไม่มีหลักฐานทางการเงิน

โดยทางกสิกรไทยตั้งงบลงทุนทั้งหมดไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนนอกตัวเมืองในจังหวัดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารอาจยังเข้าไม่ถึง โดยอาศัยเครือข่ายร้านค้าปลีกของกลุ่มคาราบาว

ด้านบล.เคทีบีเอสที ระบุว่า ดีลนี้ถือเป็นปัจจัยบวกต่อ CBG โดยจะได้รับผลตอบแทนในรูป Dividend จาก KBAO (CBG ถือหุ้นทางอ้อมที่ 7.5%) ประเมินว่าทุกๆ การปล่อยกู้ของ KBAO ที่ 4,000 ล้านบาท CBG จะได้ Dividend ที่ 27 ล้านบาท คิดเป็นอัพไซด์ต่อประมาณการปี 2566 ที่ 0.7%

นอกจากนี้ การมีระบบนิเวศของตัวเอง (Own Ecosystem) จะช่วยทำให้ร้านโชห่วยและร้านถูกดี มีมาตรฐาน แข็งแกร่งขึ้น ช่วยขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของ CBG โดยปัจจุบัน CJ มีสาขา 800 กว่าสาขา และตั้งเป้าขยายสาขาครบ 1,000 สาขา ภายในปี 2566 ส่วนร้านถูกดีมีทั้งหมดกว่า 5,000 สาขา

ส่วน KBANK มองว่าได้รับปัจจัยบวกเล็กน้อย การร่วมมือกันครั้งนี้จะทำให้ KBANK (ถือ KVISION 100%) สามารถเพิ่มช่องทางในการปล่อยกู้ในสินเชื่อรายย่อยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การลงทุนครั้งนี้ถือว่าอยู่ในแผนการลงทุน 1 แสนล้านบาท ตามที่เคยมีข่าวเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา

การลงทุนใน KBAO ใช้เงินลงทุนเพียง 2,000 ล้านบาท และสามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้กับ KBAO ได้จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้จะค่อยเป็นค่อยไป 

โดยทุกๆ สินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มได้ 4,000 ล้านบาท จะสร้างกำไรสุทธิให้กับ KBANK ราว 182 ล้านบาท (กำไรทั้งหมด 363 ล้านบาท, KBANK ถือ 50%) หรือ คิดเป็นอัพไซด์ต่อประมาณการกำไรสุทธิของ KBANK ในปี 2566 ที่ 0.4% (ภายใต้สมมติฐานที่ว่าสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท อิงการปล่อยกู้ที่ 2 ล้านบาทต่อสาขา และจำนวนสาขาอยู่ที่ 2,000 สาขา, Cost to Income เท่ากับ KBANK ที่ 40%, Loan Yield เท่ากับ Personal Loan ที่ 25%, Cost of Fund เท่ากับหุ้นกู้ของ CBG ราว 3%, Credit Cost เท่ากับ AEONTS ที่ 14%)