“โลกร้อน”ทำต้นทุนธุรกิจพุ่ง ผนึก300องค์กรมุ่ง“เน็ตซีโร่”

“โลกร้อน”ทำต้นทุนธุรกิจพุ่ง  ผนึก300องค์กรมุ่ง“เน็ตซีโร่”

เข็มทิศนำทางด้านธุรกิจการค้าและการพัฒนา ในขณะนี้กำลังชี้ไปที่ “ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability” ที่มีเป้าหมายเพื่อเร่งขยายพลังความร่วมมือให้มากขึ้นและทันต่อวิกฤติโลก

 ทั้งในบริบทของสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคมเหลื่อมล้ำ (Social) โดยยึดถือความโปร่งใส (Governance)

ดาโตะ ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน กล่าวปาถกฐาพิเศษในหัวข้อ “Towards a resilient ASEAN Community” ว่า ปัจจุบันสิ่งที่ทั่วโลกจำต้องเผชิญร่วมกันคือวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยจากรายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เผยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง 11% ในสิ้นศตวรรษนี้

อีกทั้งในปีที่ผ่านมาประชาคมอาเซียนได้เริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้เพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและลดการเกิดของเสีย สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้จะโฟกัส 3 กลุ่มอุตสหากรรม ได้แก่ การเกษตร พลังงาน และการคมนาคมชนส่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดรวมทั้งเป็นกลุ่มที่มีการขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนที่ก้าวหน้าที่สุด และจะขยายผลสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีมองแนวทาง ESG เป็นทางรอดที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤติซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เรื่องโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ อาหารขาดแคลน พิษโควิด ปัญหาเงินเฟ้อ และราคาพลังงานพุ่ง โดยการจัดงาน ESG Symposium ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลักดันความร่วมมือจากเครือข่ายระดับโลกเชื่อมโยงสู่ระดับประเทศ โดยมุ่งให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมซีเมนต์ที่มีส่วนรับผิดชอบในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050

ภราดร จุลชาต ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กล่าวว่า จากกลุ่มCEO FORUM ได้มีการสำรวจความเห็นต่อผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนต่อภาคธุรกิจพบว่าส่วนใหญ่กำลังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้น การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวจะต้องเร่งทำอย่างจริงจัง

“แม้ในฟากของต้นทุนที่เกิดจากโลกร้อนจะเพิ่มขึ้น แต่อีกทางคือต้นทุนที่สูงเช่นกันหากจะปรับตัวเพื่อให้เป็นองค์กรปลอดหรือลดคาร์บอน ซึ่งช่องว่างนี้ภาครัฐต้องเข้ามาให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้มาตรการภาษี การอุดหนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ หรือ มาตรการอื่นๆ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจ จะต้องไม่เพียงตระหนักถึงปัญหาเท่านั้นแต่ต้องลงมือแก้ไขร่วมกันและทำทันที”

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่าจากการระดมสมองของทุกภาคส่วนในงาน ESG Symposium 2022ได้ข้อสรุป 2 แนวทาง ที่นำไปสู่การขยายผล และการลงมือปฏิบัติได้จริง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ได้แก่ 

1.จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อ Net Zero โดยมีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นผู้ขับเคลื่อน เพื่อเร่งทำโรดแมปการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนที่ดีที่สุดมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา 4 เทคโนโลยี ดังนี้ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS - Carbon Capture, Utilization and Storage), การเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นพลังงานทางเลือก (Fuel Switching), พลังงานไฟฟ้า (Electrification) และระบบพลังงานที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง (Hydrogen Economy) ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนปลายปีนี้

2.การผนึกกำลังเครือข่ายความร่วมมือภาคเอกชน 60 องค์กร โดยปัจจุบันมีองค์กรที่ร่วมเป็นพันธมิตรที่ร่วมเดินไปสู่เป้าหมายเน็ตซีโร่แล้วกว่า 300 องค์กร อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD)

ปีเตอร์ เบกเกอร์ ประธานและซีอีโอ สภานักธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) กล่าวว่า ในทวีปยุโรปที่มีความไม่มั่นคงอย่างเรื่องเกษตรกรรมสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น แต่หลักการESG นั้น จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเพิ่มกลยุทธ์ในการตัดสินใจที่ดีและนำไปสู่การปฏิรูปแห่งอนาคต

บอนนี่ หลุน (Bonnie Leung ) ผู้อำนวนการ BlackRock Sustainable Investing กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อทั่วโลกส่งผลกระทบต่อการเงิน ทำให้เงินเฟ้อและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปและยังเป็นแรงกดดันทำให้เฟดต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น เพื่อยกระดับความเปลี่ยนแปลงผ่านนโยบายเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจควรนำประเด็นเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมาพิจารณาควบคู่ด้วย 

อลิสเบธ เบรนตัน (Elisabeth Brinton )  รองประธานฝ่ายความยั่งยืน (Sustainability) ไมโครซอฟท์ กล่าวว่า การเดินทางไปสู่ความยั่งยืนนั้นจะต้องลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์และสร้างผลกำไรและความยั่งยืนไปควบคู่กัน

ทั้งนี้ ต้องสามารถวัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้อยู่ได้อย่างชัดเจนและลดอุณหภูมิโลกให้ได้ 2 องศาอยากให้บริษัทอื่นๆร่วมมือในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผลักดันให้เกิดการตัดสินใจที่น่าเชื่อถือ

ESG Symposium 2022 คือความพยายามของทุกภาคส่วนเพื่อเบนเข็มทิศการพัฒนาไปสู่ การใส่ใจสิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาลและความยั่นยืนนั้น เพื่อใช้สูตรสำเร็จนี้แก้ไขทุกปัญหาที่มาจากสาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลง“สภาพอากาศ”นั่นเอง