กลยุทธ์การลงทุน มาตรการด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเมียนมาร์ - มีผลจำกัดต่อไทย

กลยุทธ์การลงทุน มาตรการด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเมียนมาร์ - มีผลจำกัดต่อไทย

ในภาพรวม เรามองว่าผลกระทบจากการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนบางส่วนของเมียนมาร์ และข้อจำกัดในการทำธุรกรรมปริวรรตเงินตราจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยมาก

ในขณะที่ ผลกระทบต่อบริษัทไทยจะอยู่ในวงจำกัด และบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ มีบริษัทจดทะเบียนเพียงสองสามแห่งในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และโรงพยาบาลที่มีธุรกิจขนาดที่มีนัยสำคัญในเมียนมาร์ อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปนักลงทุนยังต้องติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินจ๊าตเมื่อเทียบกับ USD ซึ่งยิ่งค่าเงินจ๊าตอ่อนค่าลงไปมากเท่าไหร่จะยิ่งส่งผลกระทบต่อบริษัทที่เกี่ยวข้องจากกรณีฐานของเรามากเท่านั้น

 

ประเด็นเศรษฐกิจ: การค้าต่างประเทศ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยถูกกระทบน้อยมาก

เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากมาตรการควบคุมเงินทุนของเมียนมาร์ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม เพราะการส่งออกไปเมียนมาร์มีสัดส่วนต่ำ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.63% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในปี 2564 มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังเมียนมาร์อยู่ที่ 1.38 แสนล้านบาท ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 2.22 แสนล้านบาท ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 8.43 หมื่นล้านบาท โดย 96.0% ของมูลค่าการนำเข้าจากเมียนมาร์เป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ส่วนที่เหลือเป็นสินค้าปศุสัตว์, น้ำมันปาล์ม, ประมง และผลิตภัณฑ์จากไม้ ในขณะเดียวกัน สินค้าที่ส่งออกไปจาประเทศไทย
ได้แก่ น้ำมันดีเซล, น้ำมันเบนซิน, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ นอกจากก๊าซธรรชาติแล้ว การค้าส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดนที่ชำระราคาโดยใช้เงินบาท ดังนั้น มาตรการควบคุมเงินทุนของเมียนมาร์จึงส่งผลกระทบต่อการค้าไทยน้อย

 

 

 

ในระดับบริษัท: ในหุ้นที่ KGI ศึกษาอยู่ มีเพียง OSP*, CBG* และ BH* เท่านั้นที่มีธุรกิจในเมียนมาร์ในระดับที่มีนัยสำคัญ

ยอดขายในเมียนมาร์ของทั้ง OSP* และ CBG* คิดเป็นประมาณ 10-12% ของยอดขายรวม แต่มีเพียง OSP เท่านั้นที่ตั้ง JV ในเมียนมาร์ โดยถือหุ้น 51% ในโรงงานผลิตขวดแก้ว ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 700 ล้านบาท คิดเป็น 2.5% ของสินทรัพย์รวมของ OSP สำหรับในกลุ่มโรงพยาบาล รายได้จากเมียนมาร์คิดเป็น 20% ของรายได้รวมของ BH ใน 1Q65 แต่ในช่วงที่ COVID ระบาดอยู่ที่ 5-10% เท่านั้น

 

ธนาคารบางแห่ง รวมทั้ง AEONT*, BDMS*, MAKRO* และ GLOBAL* มีธุรกิจในเมียนมาร์อยู่บ้างแต่คาดว่าผลกระทบในเชิงปัจจัยพื้นฐานน้อยมาก

BBL* มีสาขา 4 แห่ง ในขณะที่ SCB* ตั้งธนาคารหนึ่งแห่งในเมียนมาร์ ซึ่งทั้งสองธนาคารอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่า KBANK* เล็กน้อย เพราะ KBANK หยุดการดำเนินงานสำนักงานตัวแทนในเมียนมาร์มาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว ส่วนในกรณีของ BDMS รายได้จากเมียนมาร์คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ใน 1Q65 และสัดส่วนนี้น่าจะยิ่งลดลงไปอีกเมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวขึ้น สำหรับบริษัทอื่น ๆ เราพบว่า AEONTS มีสัดส่วนสินเชื่อ และลูกหนี้จากเมียนมาร์ไม่ถึง 1% ในขณะที่ รายได้ของ MAKRO และ GLOBAL จากเมียนมาร์คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดขายรวมเท่านั้น