'พีระพันธุ์'เล็งแก้กฎหมาย–ปรับระบบรัฐ ช่วย 'เอสเอ็มอี' ยกระดับธุรกิจ

'พีระพันธุ์'เล็งแก้กฎหมาย–ปรับระบบรัฐ ช่วย 'เอสเอ็มอี' ยกระดับธุรกิจ

"พีระพันธุ์"พบเอสเอ็มอีไทย เล็งแก้กฎหมาย - ระบบราชการ ที่ล้าสมัยเพื่อหนุนผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดย่อม ขนาดกลาง ส่งเสริมธุรกิจได้คล่องตัว พร้อมจี้สถาบันการเงินลดเงื่อนไขด้านเงินกู้ แทนการมุ่งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ เชื่อประเทศจะไปข้างหน้าได้ทุกคนต้องโตไปด้วยกัน

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมงาน SME Talk EP.3 “SME ต้องมีแต้มต่อ” พร้อมขึ้นบรรยายในหัวข้อ นโยบายรัฐกับการให้แต้มต่อ SME โดยมีนักวิชาการ นักธุรกิจ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีร่วมรับฟังจำนวนมาก

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว แต่เกิดขึ้นกับทั้งโลก เพราะได้รับผลกระทบจากทั้งจากโควิด 19 และสงครามยูเครน ส่งผลถึงการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลก นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์อุปสรรคมาก่อน ย่อมจะอยู่ไม่ได้

ซึ่งตนคิดว่าสถานการณ์แบบนี้ คงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์หรือวิเคราะห์ไปยาวนาน เพียงแค่ตอนนี้จะทำอย่างไรที่จะให้ทุกคน“อยู่รอด อยู่ให้เป็น อยู่ให้เย็น อยู่ให้ยาว” แค่นี้ก่อนน่าจะดีที่สุด เพื่อที่จะให้ผ่านช่วงนี้ไปได้ และหากผ่านช่วงที่ยากลำบากนี้ไปได้ก็เชื่อว่าทุกคนจะสามารถยืนด้วยขาของตัวเองได้อย่างแน่นอน

\'พีระพันธุ์\'เล็งแก้กฎหมาย–ปรับระบบรัฐ ช่วย \'เอสเอ็มอี\' ยกระดับธุรกิจ นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผ่านช่วงเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในขณะนี้ไปได้ นอกจากตัวผู้ประกอบการเองแล้ว คือองคาพยพที่เป็นภาครัฐ หรือธนาคารที่เป็นสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน

ซึ่งตนเชื่อว่าผู้ประกอบการที่ผ่านประสบการณ์มาแล้วคงรู้ว่าปัญหามันคืออะไร ทั้งเรื่องของระบบราชการที่ล้าสมัย และความยุ่งยากในเรื่องเงื่อนไขของสถาบันการเงินในการเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ ในระบบราชการของไทยปัญหาคือการควบคุมอนุญาตต้องออกโดยราชการ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อดีตอาจจะใช้ได้เพราะคนที่มีความรู้ส่วนใหญ่รับราชการ แต่ตอนนี้คนที่มีความรู้ ส่วนใหญ่ออกมาอยู่ภาคเอกชนกันมาก แม้หลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ระบบราชการยังคงไม่เปลี่ยนตาม ทำให้กลายเป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือส่งเสริมภาคธุรกิจ กลายเป็นว่าคนที่มาควบคุมยังรู้เรื่องไม่เท่ากับผู้ที่ไปขออนุญาต

ดังนั้นเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ภาครัฐต้องปรับตัวไม่ใช่เอกชนต้องปรับตัว เพราะที่ผ่านมา เอกชนปรับตลอดเวลา ตอนนี้ต้องปรับตัวภาครัฐให้รู้บทบาทหน้าที่ ตรงนี้จะเป็นนโยบายสำคัญที่จะต้องทำต่อไป นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวถึงการต่อยอดทางธุรกิจที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

โดยระบุว่าตอนที่ตนเป็น รมว.ยุติธรรม และควบคุมดูแลฑัณฑสถานทั่วประเทศ อยู่ในช่วงที่ผลไม้ เช่น ลองกอง และมังคุด มีราคาตกต่ำ ตอนนั้นมีนโยบายให้สั่งซื้อมังคุดให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพราะสามารถซื้อได้เป็นจำนวนมาก จนทำให้สามารถพยุงราคามังคุดขึ้นมาได้ และเมื่อเข้าไปเยี่ยมเรือนจำก็พบว่ามีเปลือกมังคุดจำนวนมาก ประกอบกับมีนักวิชาการด้านการเกษตรแนะนำว่าสามารถนำเปลือกมังคุดไปต่อยอดผลิตเป็นสินค้าประเภทอื่น เช่น สบู่ จึงมีนโยบายให้เร่งศึกษาเตรียมดำเนินการเพื่อที่จะให้ผู้ต้องขังทดลองทำ มีรายได้เข้าเรือนจำและยังเป็นการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขัง เพื่อสามารถนำไปประกอบอาชีพหลังจากพ้นโทษ แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้ทำ

“ผมเห็นว่าการคิดต่อยอดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้สามารถขยายธุรกิจออกไปได้อีก สิ่งสำคัญคือจะต้องได้รับการส่งเสริมจากรัฐ ในการให้โอกาสมากขึ้นเชื่อว่าเอสเอ็มอีจะเติบโตไปได้ เพราะคนไทยมีความคิด แต่ไม่มีโอกาส และไม่มีเงินทุน” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือเรื่องนโยบายของรัฐ เพื่อที่ส่งเสริมเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายงบประมาณที่ควรจะมีข้อกำหนดว่าส่วนหนึ่งที่เป็นเงินภาษีของคนไทย ต้องนำมาอุดหนุนสินค้าของเอสเอ็มอีได้ด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ลืมตาอ้าปากได้ กฎหมายงบประมาณไทยไม่ได้รับการแก้ไขมานาน มีเพียงการปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ แต่การปรับปรุงเพื่อส่งเสริมธุรกิจเล็กๆ ไม่มี ตนเห็นว่าที่ผ่านมา ธุรกิจยิ่งใหญ่ยิ่งได้เปรียบ เพราะมีอำนาจต่อรองกู้เงินก็ได้ดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่เอสเอ็มอีลำบากกว่าเพราะถูกกำหนดเงื่อนไขมากมาย ทั้งๆ ที่คนตัวเล็กควรจะได้แต้มต่อถึงจะโตได้ เหมือนเด็กถ้าไม่ให้กินนมจะโตได้อย่างไร ถ้าจะทำให้บ้านเมืองนี้เจริญได้จะต้องส่งเสริมกิจการเล็กๆ รวมทั้งมีคนสอน เป็นพี่เลี้ยงดูแลเรื่องการระบบธุรกิจต่างๆ และจะต้องให้โอกาส ให้เงินทุน

เชื่อว่าหากทำแบบนี้ได้ ประเทศไทยจะมีบริษัทใหญ่ๆ ที่มาจากบริษัทเอสเอ็มอีอีกมาก “บริษัทใหญ่ๆ เขามีโอกาสทำธุรกิจมีทางทำมาหากินอยู่แล้ว หนึ่งบริษัทกี่ตระกูล แต่ถ้าเทียบวงเงินเท่ากันในการลงทุนของเอสเอ็มอี จะได้กี่ธุรกิจ กี่บริษัท กี่ตระกูล ดังนั้นมันถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายตั้งแต่ต้น การจัดตั้งเอสเอ็มอีจะต้องทำอย่างไร ไม่ได้หมายความถึงจดทะเบียนแต่หมายถึงทำอย่างไร ที่จะมีเงินหมุนเวียนมั่นคง เมื่อจัดตั้งได้แล้วทุนที่ได้มาต้องอยู่ในวิสัยที่จะชำระได้ เงื่อนไขการปล่อยเงินกู้จะต้องไม่เหมือนธุรกิจใหญ่ เหมือนการเอาเด็กเล็กไปแข่งกับนักกรีฑาระดับประเทศแต่กลับไม่มีแต้มต่อ นอกจากนี้หากมีอุปสรรคควรจะต้องมีหลักเกณฑ์การผ่อนคลายด้านการเงินให้กับเอสเอ็มอีด้วย เช่นการฟื้นฟูกิจการ ในขณะที่กิจการใหญ่ๆ เมื่อเจออุปสรรคสามารถร้องขอฟื้นฟูได้ ขณะที่เอสเอ็มอีแม้จะไม่ห้ามเรื่องการฟื้นฟูกิจการแต่กำหนดว่าจะต้องสิบล้านขึ้นไป มีคำถามว่าทำไมต้องสิบล้านแล้วถ้าเป็นอย่างนี้ บริษัทเล็กๆ จะรอดได้อย่างไร” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นอกจากนี้หากมีโอกาสยังคิดว่าจะต้องแก้ไขเรื่องของเครดิตบูโร ซึ่งตนเป็นกรรมาธิการในยุคแรก และข้อกำหนดของเครดิตบูโรปัจจุบัน ไม่ใช่เจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะตนเคยบอกในที่ประชุมว่า เมื่อลูกหนี้ใช้หนี้เสร็จแล้วต้องปลดล็อกทันที และต้องลบประวัติอย่างนั้นคนไม่เกิด ขณะนั้นก็ถูกบอกว่าจะไปดูแลจะแก้ไข เขียนกฎเกณฑ์กติกาตามที่แนะนำ แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องแก้ไขด้วย ถ้าไม่แก้เจ๊ง ซึ่งสิ่งที่ได้พูดมาทั้งหมดนี้หากมีโอกาสตนอยากจะเข้ามาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กันเพราะเชื่อว่าการที่ประเทศจะเดินไปข้างได้ทุกคนจะต้องโตไปด้วยกัน

“ผมอยากบอกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่าอย่าหวัง อย่าหมดกำลังใจ อยากให้ช่วยกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อน แล้วก็หวังว่าวันหนึ่งบรรดาหลักเกณฑ์ต่างๆจะถูกแก้ไขเพื่อที่จะได้ใช้ในการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง และถ้าหากวันหนึ่งผมมีโอกาสที่ ผมก็จะเข้าไปทำ” นายพีระพันธุ์ กล่าว