'ศักดิ์สยาม' เปิดหลักฐานแจงปมซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญ

'ศักดิ์สยาม' เปิดหลักฐานแจงปมซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญ

'ศักดิ์สยาม' ตอกกลับปมใช้นอมินีดันบริษัทรับงานคมนาคม เปิดหลักฐานโอนขายหุ้น 'หจก.บุรีเจริญ' 119 ล้านบาทตามระเบียบ พร้อมแจงใช้งบพัฒนาถนนบุรีรัมย์ ยันไม่เคยแทรกแซงสอบที่ดินเขากระโดง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงกรณีพาดพิงระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฏร อาคารรัฐสภา โดยระบุว่า กรณีที่มีการอภิปรายถึงกรณีการโอนขายหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ตนขอชี้แจงในรายละเอียดว่าเป็นเหตุการณ์โอนเงินของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ให้กับตนตั้งแต่ห้วงเวลากลางปี 2560 ถึงต้นปี 2561 จำนวน 3 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 119 ล้านบาท และต่อมาจึงมีการโอนหุ้นกันเรียบร้อย โดยเป็นเอกสารรับรองการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารธนชาติ เป็นการทำธุรกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งเหตุการณ์ธุรกรรมทางการเงินดังกล่าวมีการทำธุรกรรมการโอนเงินตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 5 พ.ค. 2562 

ส่วนกรณีที่มีการอภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณไปกระจุกตัวที่จังหวัดบุรีรัมย์ และมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาบางราย เรื่องดังกล่าว ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยขอชี้แจงในรายละเอียดของการจัดสรรงบประมาณ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท มีการจัดงบประมาณกระจายอย่างทั่วถึง ไม่ได้เน้นพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งการเสนอขอรับจัดสรรงบลงทุนในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา จังหวัดที่ขอรับงบประมาณสูงก็ยังคงเป็นจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา และนครปฐม เป็นต้น โดยในช่วงปี 2563 – 2565 จังหวัดบุรีรัมย์ได้รับงบประมาณเฉลี่ยจำนวน 4,016 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดนครราชสีมาแล้ว ได้รับการจัดสรรงบประมาณเฉลี่ย 8,211 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณในส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์มีการจัดลำดับความสำคัญโครงการก่อสร้างและการซ่อมบำรุงรักษาถนน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด ที่มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นๆ ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์อาจจะถูกตัดงบประมาณน้อยกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากสำนักงบประมาณอาจเล็งเห็นถึงความสำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ

อีกทั้งการจัดซื้อจัดจ้างในจังหวัดบุรีรัมย์ใช้การประกวดราคาด้วยวิธี e-Bidding ผู้ประกอบการต้องซื้อเอกสารประกวดราคา และยื่นเสนอราคา ผ่านระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะไม่ทราบรายชื่อผู้เสนอราคาและราคาที่ยื่นเสนอจนกว่าระบบ e-GP จะแจ้งผล ดังนั้น การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใด และมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางกำหนด

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า กรณีการอภิปรายที่เกี่ยวข้องบริเวณที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในหลายประการ โดยตนยืนยันว่าเป็นเพียงผู้อาศัย ไม่ได้เป็นเจ้าที่สิทธิในที่ดิน อีกทั้งที่ผ่านมายืนยันว่าไม่เคยไปแทรกแซงการทำงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมทั้งสั่งการให้ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส รอบคอบ ยึดหลักธรรมาภิบาล ซึ่ง รฟท. มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิทับซ้อน จึงได้มีการเสาะหาข้อเท็จจริง และปัจจุบัน รฟท.ได้ดำเนินการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อ 23 ธันวาคม 2564
ซึ่งศาลรับคำฟ้องเมื่อ 28 มีนาคม 2565 ในขณะนี้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และทุกฝ่ายต้องให้ความเคารพต่อกระบวนการยุติธรรม จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด

ขณะที่การให้ข้อมูลอภิปรายกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนแม่บท MR-Map ของกระทรวงคมนาคม  ตนชี้แจงว่า เรื่องนี้มีการวางกรอบไว้ 3 แนวทาง 1.แก้ปัญหาของประเทศในระบบคมนาคมขนส่งที่มีมาในอดีต ที่มีการพัฒนาถนนเข้าไปสู่ชุมชน ทำให้เกิดการปะปนกันของรถบรรทุกขนาดใหญ่เพื่อการขนส่ง และรถส่วนบุคคลที่สัญจรในเมือง ทำให้เกิดอุบัติเหตุ และเกิดการพังเสียหายของถนนที่รัฐจะต้องเสียงบประมาณซ่อมบำรุงเป็นจำนวนมาก

2. สร้างโอกาสสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบเชื่อมภูมิภาคในอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยที่มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง และ 3. เป็นการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกต้องแก่ประเทศไทยอย่างเป็นระบบ เป็นทั้งการแก้ปัญหาอดีต และ ป้องกันปัญหาในอนาคต

โดยแผนแม่บท MR-Map นั้นเป็นการวางแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของประเทศ จะพัฒนาตามดีมานด์ที่เกิดขึ้น โดยจะต้องวางแผนพร้อมกัน เพื่อจะได้ลดความซ้ำซ้อนของโครงการ แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน ซึ่งจะเน้นให้ลดการลงทุนของภาครัฐให้เหลือแต่เฉพาะค่าเวนคืนที่ดิน และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาเส้นทางถนนมอเตอร์เวย์  พัฒนาเส้นทางรถไฟ และพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบๆ โครงการ MR-Map