จับสัญญาณตลาดนมพร้อมดื่ม 3 ปี “ติดลบ” และการปิดโรงงานนมสด “โฟร์โมสต์”

จับสัญญาณตลาดนมพร้อมดื่ม 3 ปี “ติดลบ”   และการปิดโรงงานนมสด “โฟร์โมสต์”

การปิดโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ หรือนมสดแบรนด์ “โฟร์โมสต์” ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “ฟรีสแลนด์คัมพิน่า เฟรช (ประเทศไทย)” เป็นเรื่องที่สะเทือนวงการธุรกิจและตลาดนมพร้อมดื่ม ส่องสัญญาณตลาด รับมือการเปลี่ยนแปลง

ฟรีสแลนด์คัมพิน่า เฟรช (ประเทศไทย)” ต้องแบกภาวะ “ขาดทุน” เป็นมูลค่า “พันล้านบาท” บริษัทต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ ยุติสายการผลิตนมสดจากโรงงานแห่งแรกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2499 จนถึง 30 มิ.ย.65 หรือยืนหนึ่งยาวนานถึง 65 ปี

แล้วสถานการณ์ตลาดนมพร้อมดื่มในประเทศไทยเวลานี้เป็นอย่างไร นับตั้งแต่เผชิญและผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ระบาดมากว่า 2 ปี รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ปรับเปลี่ยนการ “ดื่มนม” อย่างไร กรุงเทพธุรกิจ มีความเห็นจากหลากผู้ประกอบการในตลาดมาเล่า

“นมพร้อมดื่ม” มักติดเป็น 1 ใน 3 หมวดแรกของกลุ่มเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคเทใจ “เลือก” เป็นอันดับต้นๆ ชิงกันระหว่างน้ำดื่ม น้ำอัดลม เพราะนอกจากตอบโจทย์สุขภาพ ยังอิ่มท้องด้วย ทว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มมีหมวดหมู่สินค้าใหม่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่การบริโภคหรือ Share of throat มากยิ่งขึ้น ทำให้ตลาดนมพร้อมดื่มสะเทือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

++ผู้บริโภคเปลี่ยน ตลาดนมติดลบ!

“ล็อกซเล่ย์” มีธุรกิจหลากหลาย แต่ภายใต้อาณาจักรยังมีบริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด ทำหน้าที่จัดจำหน่ายและกระจายสินค้าให้กับลูกค้าแบรนด์ต่างๆ รวมถึงเคยจำหน่ายนม “หนองโพ” มายาวนาน และยุติการค้าเพราะหมดสัญญาไปเมื่อ 5 ปีก่อน ล่าสุด กลับมาจรดปากกาเซ็นสัญญทำการค้ากับ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) เพื่อลุยสร้างการเติบให้นมหนองโพอีกครั้ง

สุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) จึงฉายภาพตลาดนมพร้อมดื่มในประเทศไทยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดอยู่ใน “แดนลบ” ต่อเนื่อง บางปี ติดลบ 1% บางปี ติดลบ 3% จากย้อนไปหลายปีก่อนการเติบโตจะต้องเห็น 5-6%

จับสัญญาณตลาดนมพร้อมดื่ม 3 ปี “ติดลบ”   และการปิดโรงงานนมสด “โฟร์โมสต์” หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตลาดนมพร้อมดื่มหดตัว เพราะตลาดนมเองมีสินค้าหมวดหมู่ใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะ “นมทางเลือก”( Alternative Milk) หรือบรรดานมที่รังสรรค์จากพืช (Plant-based Milk) นั่นเอง เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต น้ำนมข้าว นมข้าวโพด เป็นต้น

หากมองภาพใหญ่ขึ้น สู่ตลาดเครื่องดื่มโดยรวม ยังมีกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือฟังก์ชันนอลดริ้งค์ น้ำผสมวิตามินหรือวิตามิน วอเตอร์ วิตามินซี และอีกสารพัดเข้ามาตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้ ตลาดยังพบผู้บริโภค “แพ้โปรตีนนมวัว” มากขึ้นเรื่อยๆด้วย เหล่านี้เป็นตัวแปรให้ “ผู้บริโภค” ต้องหันเหออกจากตลาดนมพร้อมดื่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตลาดนมพร้อมดื่มมีมูลค่าราว 44,000 ล้านบาท เป็นนมยูเอชทีราว 10,000 ล้านบาท หมวดหลังบริษัทยังมองเห็นศักยภาพและโอกาสการ “เติบโต”

“แม้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน แต่เรามองว่าตลาดนมยูเอชทียังมีโอกาสเติบโตได้” มุมมองจาก สุรช เช่นนี้ เนื่องจากภารกิจสำคัญ บริษัทจะขยายช่องทางจำหน่ายให้นมหนองโพ เข้าถึงร้านค้าทั่วไปมากขึ้นแบบ “เท่าตัว” เมื่อปริมาณร้านค้าและการเสิร์ฟกลุ่มเป้หมายได้มากขึ้น การขยายตัวของยอดขายจึงเพิ่มโดยปริยาย

ตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์หรือนมสด อายุการเก็บรักษาสินค้าหรือ Shelf life สั้น หากขายไม่หมดทุกอย่างจะกลายเป็น “ต้นทุน” ที่เกิดการสูญเสียทุกขวดด้วย อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางตลาดนมพร้อมดื่มที่ “ติดลบ” แต่แยกย่อยเป็นหมวด ยิ่งนมพรีเมี่ยมกลับเติบโต “สุรช” เล่า

++เทรนด์แพลนท์เบส มิลค์ ดันตลาดโต 5% 

นมพืชหรือแพลนท์เบส มิลค์ที่ผู้บริโภคคนไทยคุ้นชิน หนีไม่พ้น “นมถั่วเหลือง” ทว่า ปัจจุบันสินค้ามีหลากหลายกว่านั้น เพราะน้ำนมข้าวโพด น้ำนมข้าว นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต เข้ามาเบียดเชลฟ์อวดโฉมให้ผู้บริโภคเลือกซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ

จับสัญญาณตลาดนมพร้อมดื่ม 3 ปี “ติดลบ”   และการปิดโรงงานนมสด “โฟร์โมสต์”

เบเนดิกต์ ลิม ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โอ๊ตไซด์ (OATSIDE) ผู้ผลิตและทำตลาดเครื่องดื่มน้ำนมข้าวโอ๊ต เพิ่งคิกออฟทำตลาดในไทยหมาดๆ และมีพันธมิตรแกร่งอย่าง “ดีเคเอสเอช” ทำหน้าที่จัดจำหน่ายกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค

เขาให้ข้อมูลภาพรวมตลาดนมพร้อมดื่มในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 44,000 ล้านบาท แต่หลายปีตลาดอยู่ในช่วง “ขาลง” เพราะติดลบต่อเนื่อง แม้จะเป็นอัตราเล็กน้อยก็ตาม แต่นั่นเป็นตัวแปรต่อการทำตลาดสร้างการเติบโตในระยะยาว

ขณะที่ตลาดนมพืชมีบทบาทมากขึ้น และชิงสัดส่วนได้ถึง 30% ทีสำคัญมีอัตราการ “เติบโต 5%” เมื่อ “โอ๊ตไซด์” เข้ามาทำตลาดนมพืช ซึ่งมีภารกิจขยายให้ทั่วอาเซียน จึงต้องการผลักดันให้นมพืชในภูมิภาคเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% เพิ่มสัดส่วนให้มาากกว่าเดิมจากตลาดนมวัวด้วย

สำหรับนมพืชมีหลากราคาทั้งแมสและพรีเมียม ที่น่าสนใจคือปัจจุบันนมพืชหลายตัวราคาสูง อย่าง “โอ๊ตไซด์” มีขนาด 1000 มิลลิลิตร(มล.) รสชาติบาริสต้าเบลนด์ และรสช็อกโกแลตราคา 115 บาท ส่วนรสช็อกโกแลต เฮเซลนัท ราคา 130 บาท แต่ผู้บริโภคพร้อมเปิดรับ

++โอกาสแบรนด์อื่น..เมื่อ “โฟร์โมสต์” โละนมสด

นมพร้อมดื่มยังเป็นที่ต้องการของตลาดหรือมีดีมานด์อยู่ แต่จะหมวดไหน แบรนด์ต้องหาคำตอบจาก “Insight” ของผู้บริโภคให้เจอ

จับสัญญาณตลาดนมพร้อมดื่ม 3 ปี “ติดลบ”   และการปิดโรงงานนมสด “โฟร์โมสต์” ภาพ : เว็บไซต์ foremostthailand.com

อย่างไรก็ตาม การที่ยักษ์ใหญ่ “โฟร์โมสต์” ยุติผลิตและจำหน่ายนมสด เพราะเผชิญภาวะขาดทุน และต้องดูว่าสินค้าหมวดไหนคือพอร์ตโฟลิโอใหญ่ของบริษัท ที่ผ่านมา องค์กรปรับตัว เขย่าพอร์ตสินค้าอย่างไรเพื่อให้ยืนหยัดได้ เพราะการทำธุรกิจ มีบทเรียนมากมายที่สินค้าขายดีจนเจ๊ง

แม้นมสดโฟร์โมสต์ จะบ๊ายบายผู้บริโภค ออกจากตลาด แต่บริษัทยังมีสินค้าอื่น โดยเฉพาะนมยูเอชทีจำหน่าย

เมื่อแบรนด์ใหญ่โละพอร์ตนมสด ต้องจับตาดูว่าส่วนแบ่งตลาดตรงนี้ แบรนด์ไหนจะชิงโอกาสให้กับตัวเอง ซึ่งหากสำรวจเชลฟ์ จะเห็นว่านมสดมีอีกหลายยี่ห้อ เช่น ดัชมิลล์ ซีพี-เมจิ ไทย-เดนมาร์ก หนองโพ ฟาร์มโชคชัย แมกโนเลีย แดรี่โฮม ฯ