"หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" ถือไม่มีกำหนด ดอกเบี้ยสูง เสี่ยงสูง น่าลงทุนแค่ไหน ?

"หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" ถือไม่มีกำหนด ดอกเบี้ยสูง เสี่ยงสูง น่าลงทุนแค่ไหน ?

รู้จัก "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" หรือ "หุ้นกู้ตลอดชีพ" หุ้นกู้อีกรูปแบบที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง สรุปแล้วเหมาะกับใคร น่าลงทุนแค่ไหน ?

หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” กลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนอีกครั้ง หลัง  “สยามพิวรรธน์” เตรียมออกหุ้นกู้ประเภทนี้ครั้งแรก โดยให้ผลตอบแทนสูงสุด 5.5% ทว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงชวนไปทำความรู้จักกับหุ้นกู้ประเภทนี้ เพื่อหาคำตอบพร้อมๆ กันว่าหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์คืออะไร และเหมาะกับใครบ้าง 

หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ มาจากคำว่า “Perpetual Bond” ที่ภาษาไทยเรียกว่า “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” หรือบางครั้งก็เรียกว่า “หุ้นกู้ตลอดชีพ” ก็ได้

ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร “หุ้นกู้” ชนิดนี้ ก็จะหมายถึง “หุ้นกู้” ที่บริษัทเอกชน ทำออกมาเพื่อขายให้นักลงทุนซื้อเพื่อนำเงินไปเป็นทุนตามโครงการต่างๆ ที่วางแผนไว้ โดยลักษณะพิเศษของหุ้นกู้ประเภทนี้คือ สิทธิของผู้ลงทุนในการไถ่ถอนของหุ้นกู้ตัวนี้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อ “บริษัทยกเลิกกิจการ” หรือเป็นการ “ถือแบบไม่มีกำหนด

โดยอาจไม่ได้รับคืนเงินต้นตลอดช่วงเวลาที่ถือหุ้นกู้อยู่นั้น จะเรียกว่าชะตาชีวิตถูกกำหนดโดยผู้ออกหุ้นกู้ก็ไม่ผิดนัก เพราะผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ลงทุนไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ออกต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ในช่วงใดๆ ก็ตาม และอาจมีการเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้แม้บริษัทมีกำไร 

ดังนั้น หากไม่ต้องการถือหุ้นกู้นี้อีกต่อไป ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะทำได้เพียงขายออกไปเท่านั้น ซึ่งอาจขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ได้มาหรือไม่ได้ตามเวลาที่ต้องการ หรืออาจขายไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นๆ ว่ามีคนสนใจหุ้นกู้นี้อยู่หรือไม่ 

ยิ่งไปกว่านั้น หุ้นกู้บางตัวยังถูกกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ลงทุนบางกลุ่ม เช่น ผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ที่จะซื้อได้ นั่นแปลว่า เราต้องขายให้เฉพาะกับคนกลุ่มนี้เท่านั้น ซึ่งทำให้การขายยากขึ้นไปอีก นับเป็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ต้องยอมรับให้ได้หากตัดสินใจลงทุน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

นอกจากนี้หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ยังถือว่าเป็น “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” ที่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ผู้ลงทุนจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ “หลัง” จากหุ้นกู้ประเภทอื่น และเจ้าหนี้รายอื่นๆ เช่น ผู้ถือหุ้นกู้มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ แต่ยังมีสิทธิจะได้รับเงิน “ก่อน” ผู้ถือ “หุ้นสามัญ” ซึ่งผู้ลงทุนมีสิทธิ์ที่จะได้รับชำระหนี้คืนทั้งหมด หรือได้รับคืนบางส่วน หรือไม่ได้เงินคืนเลยก็เกิดขึ้นได้ พูดง่ายๆ คือเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะมีสิทธิน้อยกว่าหุ้นกู้มีประกันและไม่ด้อยสิทธินั่นเอง

  •  “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” น่าลงทุนไหม ? 

ลักษณะของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ทั้งเงื่อนไขเยอะ ทั้งเสี่ยงสูง แต่ก็ยังมีบริษัทต่างๆ ทยอยออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์มาอยู่เรื่อยๆ และมีกลุ่มนักลงทุนที่นิยมหุ้นกู้ชนิดนี้ต่อเนื่อง แน่นอนว่าจุดเด่นที่ดึงดูดคนให้มาลงทุนในหุ้นกู้ที่ต้องถือไปแบบไม่มีกำหนดคือ “ดอกเบี้ย” หรือ “ผลตอบแทน” ที่จูงใจ 

\"หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์\" ถือไม่มีกำหนด ดอกเบี้ยสูง เสี่ยงสูง น่าลงทุนแค่ไหน ? ที่มาภาพ: ThaiBMA

เช่น ล่าสุด “สยามพิวรรธน์” ประกาศออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ครั้งแรกในช่วง ก.ย. 65 โดยเสนออัตราดอกเบี้ยช่วง 5 ปีแรกที่ 5.25%-5.50% ต่อปี จากนั้นจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 5 ปี โดยกำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน หรือ “ดุสิตธานี” ที่ประกาศเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ผลตอบแทน 1-5 ปีแรกถึง 8% ที่คาดว่าจะมีการเสนอขายช่วง 1-10 ส.ค. 65 เป็นต้น 

แน่นอนว่าผลตอบแทนสูง ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูงด้วยเช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับเสี่ยงค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่ความเสี่ยงจะอยู่ระดับ 6 ขึ้นไป 

ทว่า ดูแค่ผลตอบแทนไม่เพียงพอ อีกส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ “Credit Rating” หรือ “อันดับความน่าเชื่อถือ” ของผู้ออกหุ้นกู้ รวมถึงอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ตัวนั้นๆ ที่จัดทำโดยบริษัทจัดอันดับเครดิต หรือคนมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า CRA (Credit Rating Agency) ที่ ก.ล.ต เห็นชอบ ซึ่งในประเทศไทยมี 2 ราย คือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือเหล่านี้จะสะท้อนความเชื่อถือของบริษัทและตัวหุ้นกู้ที่ออกมา ซึ่งควรนำมาพิจารณาร่วมด้วย เนื่องจากหุ้นกู้ สามารถเกิดการผิดนัดชำระหนี้ได้

\"หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์\" ถือไม่มีกำหนด ดอกเบี้ยสูง เสี่ยงสูง น่าลงทุนแค่ไหน ? ที่มาภาพ: ThaiBMA

  •  “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” เหมาะกับใคร ? 

ตามลักษณะที่กล่าวไปข้างต้น เรียกได้ว่าหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ มีความน่าสนใจในมิติผลตอบแทนที่ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จึงไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน 

ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่จะน่าลงทุนก็ต่อเมื่อลักษณะของการลงทุน จำนวนเงินลงทุน ระยะเวลาในการถือครอง สอดคล้องกับเป้าหมายการเงินการลงทุนของแต่ละคน ที่สำคัญคือเหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงระดับสูงสุด และใช้เงินเย็นในการลงทุนด้วย เนื่องจากต้องถือครองแบบไม่มีกำหนดไถ่ถอน

------------------------------------------------

อ้างอิง: ThaiBMA, ก.ล.ต.