เงินบาทวันนี้เปิด ’แข็งค่า’ ที่ 36.58 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทวันนี้เปิด ’แข็งค่า’ ที่ 36.58 บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินไม่อ่อนค่าไปมาก จากบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งจะกดดันให้เงินดอลลาร์ทรงตัวหรืออ่อนค่าลง ต่างชาติกลับมาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงในไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ ที่ระดับ 36.60-36.75 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (20 ก.ค.) ที่ระดับ 36.58 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.61 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.70 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า หากบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งจะกดดันให้เงินดอลลาร์ทรงตัวหรืออ่อนค่าลงได้บ้าง รวมถึงอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิสินทรัพย์เสี่ยงของไทย ทำให้เงินบาทจะยังไม่ได้อ่อนค่าหนักทะลุโซนแนวต้านแถว 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทยังคงมีโอกาสผันผวน และจะยังไม่รีบกลับมาแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะตลาดก็พร้อมกลับมาปิดรับความเสี่ยง (ซึ่งอาจหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์) จากทั้งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักหรือหากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังในระยะสั้นคือ วิกฤติพลังงานของยุโรป ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า สุดท้ายทางรัสเซียจะกลับมาดำเนินการส่งแก๊สธรรมชาติตามกำหนดหรือไม่ เพราะหากรัสเซียลดหรือยุติการส่งพลังงานให้ยุโรป อาจทำให้เกิดวิกฤติพลังงานขึ้น กดดันให้เงินยูโร (EUR) พลิกกลับมาอ่อนค่า และยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation) เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐ ที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนให้ดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น +2.76% นำโดยหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ Netflix +5.6%, Meta (Facebook) +5.1% รวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคารที่พลิกกลับมารีบาวด์ขึ้น Morgan Stanley +3.5%, Bank of America +3.4%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +1.38% ท่ามกลางความหวังว่ารัสเซียอาจกลับมาดำเนินการส่งแก๊สธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 1 หลังครบกำหนดการซ่อมบำรุงในวันที่ 21 กรกฎาคม นี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลวิกฤติพลังงานในยุโรปที่อาจจะเกิดขึ้น  

ทางด้านตลาดบอนด์ บรรยากาศของตลาดการเงินที่เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 3.03% ซึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ อย่างใกล้ชิด อาทิ ข้อมูลตลาดบ้าน รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต และการบริการ เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ยังคงผันผวนไปตามมุมมองของตลาดต่อโอกาสการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของเฟด รวมถึงภาวะตลาดการเงินที่มีแนวโน้มผันผวนไปตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน (ผลประกอบการส่วนใหญ่ดีกว่าคาด อาจทำให้ตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้พลิกกลับมาปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 106.7 จุด กดดันโดยภาพรวมของตลาดการเงินที่ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นหลังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นบางส่วนลดการถือครอง หรือขายทำกำไรเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินฝั่งยุโรปโดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ที่แข็งค่าแตะระดับ 1.024 ดอลลาร์ต่อยูโร หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลวิกฤติพลังงานทั้งนี้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐ ก็ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1,710 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสที่ผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว อาจเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินมีแนวโน้มผันผวนไปตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากออกมาดีกว่าคาดก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดยังสามารถเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงได้ นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาท่าทีของสหภาพยุโรป (EU) ต่อวิกฤติพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้น หากรัสเซียลด หรือยุติการส่งพลังงานให้กับยุโรป ซึ่งตลาดจะรอดูแผนการรับมือของทางการยุโรปว่า จะสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวและมีแนวโน้มที่จะกระทบต่อภาพเศรษฐกิจของยุโรปอย่างไร

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์