"แอร์ไลน์" แข่งชิงผู้โดยสารเดือด! โหมเพิ่มไฟลต์-สร้างสีสันเซอร์วิส

"แอร์ไลน์" แข่งชิงผู้โดยสารเดือด! โหมเพิ่มไฟลต์-สร้างสีสันเซอร์วิส

ธุรกิจ “สายการบิน” กำลังฟื้นไข้จากวิกฤติโควิด แม้จะต้องเผชิญความกดดันจาก “พายุเศรษฐกิจ” ทั้งเงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลัก รวมถึงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ด้วยดีมานด์การเดินทางท่องเที่ยวที่อัดอั้นมานานกว่า 2 ปี

บรรดาสายการบินต่างใส่เกียร์รุกทำตลาด เดินหน้าขยายเส้นทางบิน เพิ่มเที่ยวบิน พร้อมเติมสีสันบริการใหม่ๆ ชิงยอดผู้โดยสารกันยกใหญ่ในช่วงครึ่งหลังปี 2565

อมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์สกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศและเพิ่มความถี่เที่ยวบินมากขึ้น 

บางเส้นทางกลับมาให้บริการเร็วกว่าคาดการณ์เดิม! หลังจากรัฐบาลไทยผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ยกเลิก Test & Go และ Thailand Pass ทำให้มียอดจองตั๋วบินล่วงหน้าขยับเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“บางกอกแอร์เวย์ส” คาดการณ์รายได้ปี 2565 ฟื้นตัวคิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้เมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 พร้อมตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารปีนี้ที่ 2.4 ล้านคน จากปี 2562 มีผู้โดยสาร 5.8 ล้านคน ตั้งเป้าอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) ปีนี้เฉลี่ย 74% จากที่นั่งผู้โดยสาร 3.3 ล้านที่นั่ง โดยช่วง 6 เดือนแรกมีจำนวนผู้โดยสารสะสม 9.1 แสนคน จากเที่ยวบินปัจจุบันที่กลับมาทำการบิน 30-40% เทียบก่อนโควิด-19 ระบาด

โดยวันที่ 1 ส.ค.นี้ บางกอกแอร์เวย์สจะกลับมาให้บริการเส้นทาง กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง 1 เที่ยวบินต่อวัน และ กรุงเทพฯ-เสียมราฐ 1 เที่ยวบินต่อวัน และตั้งแต่ 1 ก.ย. จะให้บริการเส้นทาง กรุงเทพฯ-ดานัง 1 เที่ยวบินต่อวัน จากวันที่ 13 ก.ค. ให้บริการเส้นทาง กรุงเทพฯ-มัลดีฟส์ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เที่ยวบินปฐมฤกษ์มีโหลดแฟคเตอร์ดีมากที่ 95%

ด้านเส้นทางระหว่างประเทศที่เปิดให้บริการไปแล้ว และเตรียมเพิ่มความถี่เที่ยวบิน อาทิ เส้นทาง กรุงเทพฯ-พนมเปญ จะเพิ่มจาก 3 เป็น 4 เที่ยวบินต่อวันในเดือน ส.ค. เพื่อรองรับดีมานด์นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มแวะเปลี่ยนเครื่อง ถือว่าฟื้นตัวใกล้เคียงภาวะปกติที่เคยทำการบิน 5 เที่ยวบินต่อวัน ส่วนเส้นทาง สมุย-สิงคโปร์ เตรียมเพิ่มความถี่จาก 1 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 2 เที่ยวบินต่อวันในช่วงตารางบินฤดูหนาว เริ่มเดือน ต.ค.นี้

ขณะที่เส้นทางภายในประเทศ แม้ปัจจุบันจะเปิดครบทุกเส้นทาง แต่ความถี่ยังกลับมาไม่เต็มร้อย! อยู่ระหว่างทยอย “เพิ่มเที่ยวบิน” รองรับการฟื้นตัวของดีมานด์ในครึ่งปีหลัง เช่น เดือน ส.ค. เส้นทาง กรุงเทพฯ-ภูเก็ต จะเพิ่มเป็น 4 เที่ยวบินต่อวัน จากก่อนโควิด-19 ระบาดเคยทำการบิน 8 เที่ยวบินต่อวัน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะเพิ่มเป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน จากเดิมเคยทำการบิน 6-7 เที่ยวบินต่อวัน

ด้าน วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นกแอร์ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารปีนี้ไว้เกือบ 6 ล้านคน โดย 6 เดือนแรกมีผู้โดยสารสะสม 1.8 ล้านคน จากปี 2561 และ 2562 ก่อนโควิดระบาด มีผู้โดยสาร 8.86 ล้านคน และ 8.25 ล้านคนตามลำดับ จากขนาดฝูงบินให้บริการ 24 ลำ ส่วนปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่เกิดโควิด มีผู้โดยสาร 4.19 ล้านคน

ช่วงครึ่งหลังปี 2565 จนถึงปี 2566 นกแอร์จะเช่าเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 เพิ่ม 6 ลำ จากปัจจุบันมีฝูงบินรวม 17 ลำ เป็น โบอิ้ง B737-800 จำนวน 14 ลำ และเครื่องบินใบพัด รุ่น Q400 จำนวน 3 ลำ

“นกแอร์จะทยอยนำเครื่องบินโบอิ้ง 6 ลำใหม่ดังกล่าวเข้ามา ทันทีที่เริ่มเห็นดีมานด์การบินระหว่างประเทศฟื้นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีนและเพื่อนบ้าน หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้นกแอร์กลับมาทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศอีกครั้ง ประเดิม 2 เส้นทาง ก.ค.นี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ ซิตี้ และ กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง”

ธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัทสายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) เล่าเสริมว่า นกแอร์เตรียม “เพิ่มความถี่เที่ยวบิน” ใน 2 เส้นทางที่เปิดให้บริการไปแล้ว ทั้ง กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง เพิ่มจาก 4  เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเส้นทาง กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ ซิตี้ เพิ่มจาก 1 เป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน ภายในสิ้นปีนี้

“นกแอร์ได้ขอทำการบินสู่อินเดีย 4 เมือง นิวเดลี มุมไบ กัลกัตตา และไฮเดอราบัด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาสิทธิการบิน หวังเริ่มบินไตรมาส 4 นี้ ส่วน จีน ยังต้องรอนโยบายรัฐบาลจีนผ่อนปรนเพิ่ม และยังสนใจทำการบินสู่มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น (โตเกียว โอซาก้า และฮิโรชิมะ) ซึ่งต้องรอรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดประเทศมากกว่านี้”

และวันที่ 21-23 ก.ค.นี้ นกแอร์จัดกิจกรรม “ครบรอบ 18 ปี” ภายใต้แนวคิด “Better Experience, Better Smiles” ที่ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ พร้อมเปิดตัว “บริการใหม่” Exclusive Trip, Inflight Entertainment, Music On Plane, Lite Biz, Premium Booth, Premium Lounge, บริการขนม Croissant Tayaki และเครื่องดื่มร้อน รวมถึงเปิดตัวเส้นทางการบินใหม่ทั้งในและระหว่างประเทศ ฐานการบินใหม่ และบริการ “Pet Onboard” ให้บริการในเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ ถือหุ้น 100% ในบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ช่วงที่ยังไม่สามารถทำการบินไปจีนได้ตามปกติ และรอลุ้นว่ารัฐบาลจีนจะเปิดประเทศเมื่อไร เป็นการเปิดแบบมีเงื่อนไขหรือเต็มรูปแบบ ทำให้สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ต้องปรับกลยุทธ์ไปบุกตลาดที่มีศักยภาพพร้อมเดินทาง เช่น “อินเดีย” ซึ่งมีบินไป 4 เมืองแล้ว มีโหลดแฟคเตอร์เกือบ 100% ทุกวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างขอเพิ่มเส้นทางบินไปเมืองอื่นๆ ในอินเดีย

ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียให้บริการสู่ 11 ประเทศ 22 เมือง รวม 24 เส้นทาง ตั้งเป้ายอดผู้โดยสารปีนี้ 10.4 ล้านคน หรือเกือบ 50% เทียบยอด 22 ล้านคนเมื่อปี 2562