แบงก์ชาติชี้ ครัวเรือน-ธุรกิจเปราะบาง ต้นทุนเพิ่ม เสี่ยงเบี้ยว ‘หนี้’พุ่ง

แบงก์ชาติชี้ ครัวเรือน-ธุรกิจเปราะบาง ต้นทุนเพิ่ม เสี่ยงเบี้ยว ‘หนี้’พุ่ง

ธปท.หวั่นเงินเฟ้อพุ่ง กระทบการชำระหนี้ ภาคครัวเรือน-ธุรกิจ “เคเคพี” เผย แนวโน้มหนี้เสียเพิ่มขึ้น “ทิสโก้” คาดปีนี้มีโอกาสขยับขึ้น “แบงก์กรุงเทพ” เกาะติดลูกหนี้ใกล้ชิด คลังจับมือแบงก์ชาติจ่อผ่อนเกณฑ์ซอฟท์โลนช่วยลูกหนี้โควิด

      ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยรายไตรมาส ประจำไตรมาส 2 ปี 2565 พบว่า แม้ระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงจากเงินเฟ้อสูงขึ้น ส่งผลต่อค่าครองชีพและต้นทุนการผลิต ทำให้ความสามารถการชำระหนี้ภาครัวเรือนและภาคธุรกิจด้อยลง และอาจกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อรายย่อยของภาคธนาคารพาณิชย์ได้

     ทั้งนี้หากดูสินเชื่อแต่กลุ่มพบว่าภาคครัวเรือนยังเปราะบางต่อเนื่อง จากภาระหนี้สูง และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อ โดยเฉพาะครัวเรือนที่รายได้ต่ำที่เปราะบางกว่ากลุ่มรายได้อื่นๆ เนื่องจากรายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่  ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณด้อยลงเล็กน้อยของคุณภาพสินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคล

    ส่วน ธุรกิจขนาดใหญ่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม โดยต้องติดตามการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนเพิ่มขึ้น

      ด้านผู้ประกอบการที่มิใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) คุณภาพสินเชื่อภายใต้การกำกับของนอนแบงก์ เริ่มมีแนวโน้มด้อยลง โดยเฉพาะในสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน อย่างไรก็ดีนอนแบงก์ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ในภาพรวมยังมีความมั่นคง

    

ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม โดยต้องติดตามการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนเพิ่มขึ้น

     ด้านผู้ประกอบการที่มิใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) คุณภาพสินเชื่อภายใต้การกำกับของนอนแบงก์ เริ่มมีแนวโน้มด้อยลง โดยเฉพาะในสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน อย่างไรก็ดีนอนแบงก์ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ในภาพรวมยังมีความมั่นคง

หวั่นหนี้เสียไหลต่อ

     นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลของธนาคาร น่าจะยังเห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น หากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

       แต่ยังอยู่ระดับบริหารจัดการได้เพราะที่ผ่านมา ธนาคารบริหารจัดการหนี้เสียต่อเนื่อง ทั้งการช่วยลูกหนี้เข้าโครงการพักทรัพย์พักหนี้แล้วเกือบ 2,000 ล้านบาท

      ทั้งนี้ธนาคารมีการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง ผ่านมาตรการทางการเงิน แต่หากดูลูกหนี้ในมาตรการพบว่า ปัจจุบันออกจากโครงการต่อเนื่อง

     ซึ่งที่เหลืออยู่ในโครงการมีไม่ถึง 10% หากเทียบกับลูกหนี้ที่เข้าโครงการทั้งหมด แม้หนี้เสียจะยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

     แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบลูกหนี้ได้ จากปัจจัยภายนอก ทั้งเรื่องของสงครามรัสเซียยูเครน ต้นทุนจากสินค้า จากเงินเฟ้อ และน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

    ดังนั้นเหล่านี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่า มีผลกระทบต่อลูกหนี้ในพอร์ตในระยะข้างหน้ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องติดตามลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง

    “หนี้เสียของแบงก์ไม่น่าหยุดไหล ก็คงเหมือนภาพรวมที่ยังเพิ่มขึ้น และยังไม่รู้ว่าข้างหน้าลูกหนี้จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น จากปัจจัยภายนอกมากน้องแค่ไหน แต่ลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการของแบงก์ ออกจากมาตรการต่อเนื่องวันนี้มีไม่ถึง 10%”

ห่วงสินเชื่อกลุ่มเสี่ยง

     นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ปี 2565 หนี้เสียไม่น่าห่วงเพราะลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากท่องเที่ยว เช่น พอร์ตโรงแรม ธนาคารมีพอร์ตน้อยมาก ส่วนพอร์ตลูกหนี้ในมาตรากรปัจจุบันมีทิศทางดีขึ้น เริ่มเห็นลูกหนี้ออกจากมาตรการได้ เพราะแบงก์ช่วยต่อเนื่อง หากลูกหนี้กลับไปชำระหนี้ไม่ได้ เมื่อหมดมาตรการบางราย แบงก์ก็ช่วยต่อ 3-6 เดือน จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ

      อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางหนี้เสียของธนาคารจะลดลง แต่คาดว่า ด้านคุณภาพหนี้เสียโดยรวมทั้งปีอาจปรับเพิ่มขึ้นได้ เพราะการที่ธนาคาร หันไปเจาะพอร์ตลูกหนี้ไฮยิลด์ ที่มีผลตอบแทนสูง

     แต่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งรถมือสอง และจำนำทะเบียน ดังนั้นอาจทำให้หนี้เสียของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในปีนี้ แต่ก็ยังอยู่ระดับบริหารจัดการได้

      “หนี้เสียแบงก์ลดลงต่อเนื่อง หากเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เพราะเรามีพอร์ตลูกหนี้เกี่ยวกับโรงแรมน้อยมาก และลูกหนี้บางส่วนเราช่วยต่อเนื่องจนกว่าลูกหนี้จะรอด แต่ภาพรวมหนี้เสียของธนาคารปีนี้ ก็อาจเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย จากการที่แบงก์หันไปรุกสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่ก็ยังบริหารจัดการได้”

ประคองลูกหนี้เอสเอ็มอี

      นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ลูกหนี้เอสเอ็มอีบางส่วนยังต้องประคองต่อเนื่อง เนื่องจากรายได้ยังไม่กลับมาเท่ากับระดับโควิด ดังนั้นด้านคุณภาพหนี้ ก็ยังต้องติดตามใกล้ชิด

     แต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และสินเชื่อโดยรวมของเอสเอ็มอียังอยู่ระดับต่ำ หากเทียบกับระบบ เพราะวันนี้เห็นลูกหนี้บางส่วนเริ่มกลับมาชำระหนี้ได้

    โดยเฉพาะลูกหนี้ภายใต้มาตรการ ที่เริ่มกลับมาชำระหนี้ได้ระดับ 30-40% แล้ว แต่อีก 60% ยังมีปัญหา และต้องติดตามดูแลใกล้ชิด

      “ด้านคุณภาพหนี้ก็เชื่อว่ายังอยู่ระดับที่บริหารจัดการได้ และยังต่ำหากเทียบกับระบบ ในส่วนของเอสเอ็มอี เพราะวันนี้ ยังมีมาตรการแบงก์ชาติช่วยดูแลแบงก์อยู่ ทั้งมาตรการสีฟ้า สีส้ม ที่ช่วยเกี่ยวกับการกันสำรอง หากเป็นลูกหนี้ในแต่ละกลุ่ม และหากลูกหนี้กลับมาดีขึ้น ก็ไม่ต้องรอถึง 6 เดือนก็กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ เหล่านี้ช่วยไม่ให้หนี้เสียแบงก์ไหลลงไปต่อเนื่อง”

แบงก์แห่ขายหนี้ทะลักปี65

    นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หากดูแนวโน้มหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์ปีนี้ มีแนวโน้มต่ำลง มาอยู่กรอบล่างที่ 2.95% จากเดิมที่เคยมองไว้ที่ 2.95-3.05% เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นแบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่อง

   แต่หากดูด้านมูลค่าหนี้เสีย คาดว่าจะยังขยับเพิ่มขึ้น โดยคาดปีนี้จะอยู่ที่ 5.5-5.6 แสนล้านบาท หากเทียบกับปีก่อนที่ 5.3 แสนล้านบาท

     ขณะเดียวกัน แบงก์โดยรวมมีการเร่งบริหารจัดการหนี้เสีย โดยการขายหนี้เสียออกจากระบบให้ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ รวมถึงการจัดตั้งเจวีเอเอ็มซี เพื่อขายหนี้เสียออกจากระบบ เหล่านี้จะเป็นตัวช่วยทำให้ภาพรวมหนี้เสียของแบงก์ปีนี้ลดลงได้ ดังนั้นมองว่าหนี้เสียคงไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจนน่ากังวล

    อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ยังน่าห่วง คือกลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อย่างสินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิต ที่จะเห็นหนี้เสียยังขยับเพิ่มขึ้นได้ สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ ยังคงใกล้เคียงเดิม และไม่ได้ลดลง เฉลี่ยยังใกล้เคียงกับปีก่อน ไตรมาสละ 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 8.5-9 หมื่นล้านบาท

คลัง-ธปท.แก้เกณฑ์ซอฟต์โลน 

    แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและ ธปท.กำลังพิจารณาแนวค้ำประกันสินเชื่อซอฟท์โลนในส่วนที่ยังเหลือวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อเหลือเอสเอ็มอีจากผลกระทบโควิด

     โดยจะมีขอบเขตการช่วยเหลือที่กว้างกว่าเงื่อนไขที่ บสย.ที่เป็นองค์กรของรัฐในปัจจุบันที่ให้การค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีเพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น

    ทั้งนี้ พ.ร.ก.ซอฟท์โลนวงเงิน 2.5 แสนล้านบาทของ ธปท.ที่ออกมาช่วยเอสเอ็มอีตั้งแต่ปี 2563 โดยให้สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินในประเทศ จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ใช้วงเงินนี้ไปแล้ว 2 แสนล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีก 5 หมื่นล้านบาท

    ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขของการใช้เงินก้อนนี้ เพื่อให้เอื้อต่อผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลือให้มากที่สุด

    สำหรับวงเงินซอฟท์โลน 2 แสนล้านบาทที่ได้ใช้ไปแล้ว แบ่งเป็น 2 เฟส ประกอบด้วย 1.ตาม พ.ร.ก.ฉบับแรกที่ยังไม่ได้กำหนดให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อได้ 

     2.วงเงินอีก 1 แสนล้านาบท ที่กำหนดให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อได้ ซึ่งทยอยครบกำหนดชำระตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หากผู้ประกอบการรายใดต้องการใช้วงเงินสภาพคล่องต่อเนื่อง แต่สถาบันการเงินเรียกหลักประกันเพิ่มให้ยื่นขอ บสย.ช่วยค้ำประกัน

     ทั้งนี้ แนวทางการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มดังกล่าว มาจากการที่นายกรัฐมนตรีประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และมีมติเห็นชอบการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและพลังงาน และตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา 2 ชุด เพื่อติดตามข้อมูลเศรษฐกิจทุกประเด็นและบรรเทาค่าครองชีพประชาชน      

    ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณาแนวทางช่วยประชาชนระยะสั้น โดยเฉพาะมาตรการบรรเทาภาระราคาน้ำมัน