เปิดเทคนิค "ซื้อประกันชีวิต" อย่างไร สู้ดอกเบี้ยขาขึ้น

เปิดเทคนิค "ซื้อประกันชีวิต" อย่างไร  สู้ดอกเบี้ยขาขึ้น

ธุรกิจประกันชีวิต แนะเทคนิค "ซื้อความคุ้มครอง - ลงทุน" อย่างไรในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและผันผวน พร้อมเปิด 3 ความเสี่ยงกรณีถูกชวนเวนคืนกรมธรรม์เดิมมาซื้อกรมธรรม์ใหม่ให้ผลตอบแทนจูงใจ เตือนระวัง "ได้ไม่คุ้มเสีย" ชี้ "กู้เงินสดจากกรมธรรม์" อีกทางออกช่วยเสริมสภาพคล่องได้

ในช่วง ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและผันผวนต่อเนื่อง” เช่นนี้  นับว่า “เป็นความท้าทายลูกค้าหรือผู้เอาประกันที่กำลังคิดที่จะ “การซื้อประกันชีวิต”  หลายคนคงทำตัวไม่ถูกว่า “ต้องตัดสินใจอย่างไร” และมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย 


ใช่เวลาที่สามารถ “ซื้อประกันชีวิตหรือไม่” แล้วหรือไม่ หรือควรจะรอไปก่อน  หรือจะ “เวนคืนกรมธรรม์ก่อนกำหนด” เพื่อไปซื้อกรมธรรม์ใหมาหรือไม่  และหากต้องการเงินมาเสริมสภาพคล่องจะ “กู้เงินจากกรมธรรม์ดีหรือไม่”  จะได้รับผลกระทบจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างไร 

เปิดเทคนิค "ซื้อประกันชีวิต" อย่างไร  สู้ดอกเบี้ยขาขึ้น
 

ในงานสัมมนา “ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นมีผลกระทบอย่างไรกับธุรกิจประกันชีวิต” จัดโดยสมาคมประกันชีวิตไทย มีคำตอบ โดย “ปาณัท สุทธินนท์”  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส  บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL ให้คำแนะนำเป็นข้อคิดกับลูกค้าหรือผู้เอาประกัน  

สำหรับการพิจารณา “ซื้อประกันชีวิต  และ “ข้อควรระวังต่างๆ  ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น” ดังนี้ 

“ตั้งคำถามแรก”  ต้องการประกันชีวิต ที่เป็น “ความคุ้มครอง”  (Protection)  หรือ “ การลงทุน”  (Investment)  

1. หากต้องการ  “ความคุ้มครองชีวิต”  สามารถซื้อประกันชีวิตได้ทันที เพราะความคุ้มครองชีวิต ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยขึ้นหรือลง และ “ยิ่งซื้อเร็วยิ่งดี” 

 

2.   แต่ถ้าเป็น “การลงทุน” เราต้องกลับประเมิน  “เทรนด์ดอกเบี้ยระยะข้างหน้า”  มี 3  คำแนะนำ 

หากมอง  “ดอกเบี้ยเป็นเทรนด์ขาขึ้นต่อเนื่อง”  แนะนำว่า อาจจะรอก่อนได้ โดยคาดหวังว่า แบบประกันในอนาคตหรือปีหน้า บริษัทประกันชีวิตจะออกสินค้าที่ให้ผลตอบแทน (IRR) สูงขึ้น  ค่อยไปรอซื้อในตอนนั้น แต่ต้องเน้นย้ำว่า แม้ว่าดอกเบี้ยขึ้นแล้ว แต่ถึงตอนนั้น บริษัทประกันชีวิต อาจจะไม่ออกสินค้าที่ให้ IRR สูงขึ้นก็ได้   
 

หรือถ้ามอง  “เทรนด์ดอกเบี้ยสูงสุดแล้วจะปรับตัวลง” แนะนำว่า ให้ซื้อประกันสะสมทรัพย์ตอนนี้ได้ทันที เพราะ IRR ในตลาดสูงสุดแล้ว และซื้อที่เป็นสัญญาระยะยาว เพื่อล็อกIRR ไว้ 

แต่ถ้ายังลังเล ไม่แน่ใจว่า  “ดอกเบี้ยจะเป็นเทรนด์ขาขึ้นหรือลง” แนะนำว่า ให้แบ่งเงินบางส่วน ซื้อประกันสะสมทรัพย์เอาไว้ก่อน ใช้วิธีการลงทุนแบบ DAC หรือเฉลี่ยลงทุน

เช่น ปีนี้แบ่งเงินมาลงทุนไว้ก่อนส่วนหนึ่ง ปีหน้าค่อยแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาซื้อเพิ่ม แต่ต้องเลือกซื้อสัญญา ระยะสั้น เพื่อไม่ต้องล็อก IRR ยาว เพราะในอนาคตมีแบบประกันออกใหม่ที่ IRR สูงขึ้น ก็ยังจะมีเงินไปซื้อประกันใหม่ได้  ปัจจุบันประกันสะสมทรัพย์ในตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2%     
     

คำเตือน "เวนคืนกรรม์" เสี่ยง 3 เรื่อง 

ขณะเดียวกันในภาวะตลาดผันผวนและเศรษฐกิจไม่ดีเช่นนี้ การเวนคืนกรมธรรม์  (Surrender Policy) หรือขกยกเลิกกรมธรรม์ก่อนกำหนด  ยังมีความเสี่ยงที่ลูกค้าหรือผู้เอาประกัน ต้องระมัดระวังการตัดสินใจ เพราะมีความเสี่ยงทำให้อาจ “ได้ไม่คุ้มเสีย”    
 
“ปาณัท”  ย้ำว่า ช่วงภาวะเช่นนี้ ตอนนี้เริ่มเป็นประเด็นมากขึ้น  มีบางช่องทางขายที่แนะนำให้ลูกค้าหรือผู้เอาประกัน เวนคืนกรมธรรม์เก่า เพื่อไปซื้อกรมกรมธรรม์ใหม่  โดยอ้างว่า จะได้รับ “ผลตอบแทนสูงขึ้น”  ซึ่งอยากเตือนว่า

ลูกค้าหรือผู้เอาประกันต้องพิจารณาให้ดี ถึงความเสี่ยงที่จะเสียผลประโยชน์ 3 เรื่อง คือ 
1.    เสียสิทธิลดหย่อนภาษี  
2.    สัญญาเพิ่มเติมถูกยกเลิกตาม
3.    ผลตอบแทนอาจไม่ได้สูงเท่าที่คาดหวัง 


สำหรับ เสียสิทธิลดหย่อนภาษี  นั้นบางคนซื้อประกันสะสมทรัพย์เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี แต่กฎระเบียบกรมสรรพากร กำหนดให้กรมธรรม์ที่ถือต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี  หากยกเลิกกรมธรรม์ก่อนกำหนด อาจจะมีประเด็นทางภาษีสรรพากรได้

        
อีกทั้ง หากกรมธรรม์หลักมีสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายอยู่ ไม่ว่าจะความคุ้มครองสุขภาพหรือโรคร้ายแรง ถ้ายกเลิกความคุุ้มครองหลักแล้วส่วนสัญญาเพิ่มเติมจะขาดตามไปด้วย และหากไปซื้อกรมธรรม์ใหม่ อาจจะมีการพิจารณารับประกันใหม่ ซึ่งต้องคำนึงถึงโรคที่เคยเป็นมาก่อนด้วย


 นอกจากนี้ การเวนคืนกรมธรรม์เดิมไปซื้อกรมธรรม์ใหม่  ต้องคำนึงถึง มูลค่าเงินสด (cash value ) ที่ได้อาจจะน้อยกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไปในช่วงแรก ทำให้ผลตอบแทนที่ ควรจะได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น  

ตัวอย่างเช่น  ประกันสะสมทรัพย์เดิมที่ถืออยู่  จ่ายเบี้ย 100 บาท ได้มูลค่าเงินสดคืน 2% เท่ากับได้ 2 บาทต่อปี  แต่มีคนมาบอกว่าให้เวนคืนกรมธรรม์เดิม เพื่อมาซื้อกรมธรรม์ใหม่ ให้มูลค่าเงินสดดีกว่า ยังจ่ายเบี้ย 100 บาท แต่ได้มูลค่าเงินสดคืน 3% ทำให้คาดหวังว่าจะได้เพิ่มขึ้น เป็น 3 บาทต่อปี 

แต่จริงๆ แล้วการที่เวนคืนกรมธรรม์ จะไม่ได้มูลค่าเงินสดคืน จากที่เราจ่าย 100 บาท  แต่อาจจะคืนจาก 60 บาทเท่านั้น  หากกรมธรรม์ใหม่ได้มูลค่าเงินสดคืน 3%จริงแต่เป็น 3 % ของ 60 บาท ทำให้จะได้มูลค่าเงินสดคืนแค่ 1.8% ซึ่งน้อยกว่ากรมธรรม์เดิมที่ถือครองอยู่ด้วยซ้ำ 
 
เงินกู้จากกรมธรรม์ อีก “ทางออก" ช่วยสริมสภาพคล่อง 

"ปาณัท" กล่าวว่า ถ้าลูกค้าหรือผู้เอาประกัน พบว่า  ตัวเองมีปัญหาสภาพคล่องจริงๆ จากเศรษฐกิจชะลอตัว ขาดรายได้ รายจ่ายเพิ่ม  ก็ไม่จำเป็นต้องเวนคืนกรมธรรม์

แนะนำว่า  มีแนวทางอื่นเหมาะสมกว่า  เช่น การกู้เงินสดในกรมธรรม์(Policy Loan) ซึ่งเป็นสิทธิลูกค้าทำได้อยู่แล้ว บริษัทประกันชีวิตจะคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ + 2% จากผลตอบแทนหน้ากรมธรรม์  และเป็นดอกเบี้ยที่ระบุตามสัญญาไว้แล้ว หากเป็นกรมธรรม์เดิม ไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น 

หากในระยะข้างหน้า สถาบันการเงินขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ จนสูงกว่า กู้เงินสดจากกรมธรรม์  แน่นอนว่า  สุดท้ายแล้ว ลูกค้าหรือผู้เอาประกัน อาจหันมาใช้เงินกู้จากกรมธรรม์แทนก็ได้กู้แบงก์    ดังนั้นมองว่า “เงินกู้จากกรมธรรม์”   ยังเป็นอีกทางเลือกในภาวะเช่นนี้   

และขณะนี้ ภาคธุรกิจประกันชีวิต ยังไม่มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว แต่ในส่วนกรมธรรม์ใหม่ ต้องรอทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของตลาดที่ชัดเจนก่อน ว่าส่งผ่านมายังดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินมากน้อยแค่ไหน

แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤติโควิด ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจชะลอตัว กระทบรายได้ลดลง  ยังไม่พบว่า มีลูกค้าหรือผู้เอาประกัน มาขอกู้เงินจากกรมธรรม์ เพื่อเสริมสภาพคล่อง เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

ทางด้านภาพรวม ธุรกิจประกันชีวิต เน้นการความมั่นคงในระยะยาว  และมีฐานการเงินแข็งแกร่งมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ถือว่า สูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 140% อยู่ค่อนข้างมาก ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน

ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น นับเป็นความเสี่ยงที่ "ความท้าทาย"  ธุรกิจประกันชีวิต  แต่ไม่ได้กระทบมากนัก เพราะ "ธุรกิจประกันชีวิต" มีบทเรียนจาก "ภาวะดอกเบี้ย ทั้งขาขึ้นและขาลง" ในอดีตมาแล้ว  ทำให้พร้อมรับมือในสถานการณ์เช่นนี้  

รวมถึง ยังสามารถให้คำแนะนำ ให้ความรู้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับ "ลูกค้าและผู้เอาประกัน" ได้อย่างดีเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าอย่างไร แน่นอนว่า "ประกันชีวิต" ยังคงเป็นเครื่องมือทางการเงิน ช่วยบริหารความเสี่ยงได้ ท่ามกลางตลาดผันผวน นั่นเอง