บทเรียน "LUNA" สะท้อนนิสัยนักเทรดไทย มั่นใจเกิน แห่ช้อนตอนดิ่ง ขาดทุน 980 ล้าน!

บทเรียน "LUNA" สะท้อนนิสัยนักเทรดไทย มั่นใจเกิน แห่ช้อนตอนดิ่ง ขาดทุน 980 ล้าน!

ถอดบทเรียน "LUNA" จากงานวิจัย ก.ล.ต. พบพฤติกรรมนักเทรดคริปโทฯ ชาวไทย 70% มั่นใจเกินไป หวังโกยกำไร แห่เข้าซื้อตอนราคาดิ่งเหวต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ จนขาดทุนอ่วม รวม 980 ล้านบาท

Luna” เหรียญประจำเครือข่าย “Terra” เป็นอีกหนึ่ง “คริปโทฯ ที่แวดวงสายเทรดไม่มีใครไม่รู้จัก โดยเฉพาะหลังจากสร้างตำนานสะเทือนวงการคริปโทเคอร์เรนซี

ปรากฏการณ์จากฟ้าสู่เหว ของ Luna ที่มีนักเทรดทั่วโลกเข้าไปร่วมสร้างตำนาน ได้ “บทเรียน” ครั้งสำคัญกันไม่น้อย ไม่เว้นแม้แต่นักเทรดไทย ที่หากนับเฉพาะการเทรดผ่าน Exchange ในประเทศ พบว่า ขาดทุนกันไปรวมๆ แล้วประมาณ 980 ล้านบาท!

ด้วยผลตอบแทนที่เคยสูงกว่า 16,674% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของ Luna ในเดือน เม.ย. 65 ทำให้เหรียญนี้ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก ทว่า สิ่งที่น่าสนใจจากบทเรียนในครั้งนี้คือ “พฤติกรรม” ของผู้ที่เข้าซื้อ Luna ชาวไทย ที่สะท้อนว่า “มีความมั่นใจเกินไป” จนเข้าซื้อตอนราคาดิ่งเหวน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ หวังทำกำไรช่วงขาขึ้นอีกครั้ง

ข้อมูลนี้เปิดเผยผ่านบทความเรื่อง “เจาะพฤติกรรมและผลกระทบของผู้ซื้อขายเหรียญ Luna ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลประเทศไทย” โดย พงศธร ปริญญาวุฒิชัย ฝ่ายวิจัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อ “เหรียญ Luna” ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 – 22 พ.ค. 65

โดยผู้วิจัยใช้ช่วงเหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่อราคาของ Luna เป็นตัวแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วง 

บทเรียน "LUNA" สะท้อนนิสัยนักเทรดไทย มั่นใจเกิน แห่ช้อนตอนดิ่ง ขาดทุน 980 ล้าน! ช่วงแรกคือ Pre-stage (ช่วงก่อนวันที่ 9 พ.ค. 65) คือช่วงเวลาก่อนที่ราคาของเหรียญ UST (stable coin) กำลังจะหลุดจากที่ผูกไว้ในอัตรา 1 UST ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมีราคาน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ช่วง Fall-stage (ช่วงระหว่างวันที่ 9 – 13 พ.ค. 65) คือช่วงเวลาที่ราคาของเหรียญ UST หลุดจากอัตราที่ผูกไว้ หรือมีราคาน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ

และ ช่วง Bottom out-stage (ช่วงหลังจากวันที่ 13 พ.ค. 65) คือช่วงเวลาที่ราคาของเหรียญ Luna ตกไปอยู่จุดต่ำสุดในขณะนั้น และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยประกาศระงับการซื้อขาย Luna ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 วัน

  •  70.26% แห่ช้อน Luna ตอน Bottom out 

สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อดูภาพรวมของบัญชีที่เข้ามาซื้อขายในปี 2565 ทั้งหมด 315,077 บัญชี ซึ่งประมาณ 99% เป็นผู้ลงทุนในประเทศ และผู้ลงทุนประเภทอื่นๆ อีก 1% ซึ่งบัญชีส่วนใหญ่มีขนาดพอร์ตอยู่ในช่วง 5,000-1,000,000 บาท

เมื่อนำจำนวนบัญชีที่เข้ามาซื้อขาย มาแบ่งตามช่วงเวลาที่ทำการศึกษาปรากฏว่า ช่วงที่มีการเข้าซื้อมากที่สุดคือช่วง Bottom out-stage หรือช่วงที่ราคาดิ่งทะลุกระดานไปแล้ว

  • Pre-stage : เข้าซื้อ 36,396 บัญชี คิดเป็น 11.55%
  • Fall-stage : เข้าซื้อ 57,300 บัญชี คิดเป็น 18.19%
  • Bottom out-stage : เข้าซื้อ 221,381 บัญชี คิดเป็น 70.26% 

นอกจากนี้จากข้อมูลจำนวนบัญชีที่เข้ามาซื้อขาย Luna ทั้งหมดพบว่ามีบัญชีจำนวน 211,723 บัญชี สัดส่วนประมาณ 67% มีประสบการณ์ซื้อขายเหรียญประเภทอื่นมาก่อนแต่ยังไม่เคยซื้อ Luna และเพิ่งเริ่มเข้ามาซื้อขายในช่วง Bottom out ส่วนบัญชีที่เข้ามาเพื่อเก็งกำไรในเหรียญ Luna เพียงอย่างเดียวมี 9,658 บัญชี โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3%

  •  อะไรทำให้คนส่วนใหญ่กล้าซื้อตอนราคาดิ่งเหว ? 

ตัวเลขการวิจัยในครั้งนี้สะท้อนว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอาจมาจาก 2 เรื่องหลัก 

เรื่องแรก : มั่นใจเกินไป เพราะราคาดึงดูด

สิ่งที่ดึงดูดให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้ามาซื้อคือราคาของเหรียญ Luna ที่หลังจากที่ราคาของ Luna ลงไปจนถึงจุดต่ำสุดแล้ว (ณ วันที่ 13 พ.ค. 65) เมื่อกลับมาเปิดซื้อขายหลังจากที่ได้มีการระงับการซื้อขายชั่วคราว ราคาของเหรียญ Luna พุ่งสูงขึ้นไปถึงราวๆ 400 เท่า (ณ วันที่ 14 พ.ค. 65) จากจุดราคาต่ำสุด

เมื่อเห็นการปรับตัวของราคาที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้มีคนแห่ซื้อเป็นจำนวนมาก เพราะคิดว่าสามารถทำกำไรจากช่วงเวลาที่ราคาเกิดความผันผวนสูงได้

พฤติกรรมประเภทนี้อาจอธิบายได้จาก “อคติเชิงพฤติกรรม (Behavioral biases)” ของผู้ซื้อขายที่มักพบว่า “มีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป (Overconfidence)” นั่นคือ คาดการณ์โอกาสที่จะได้กำไร สูงกว่าที่เป็น ในขณะที่ประเมินความเสี่ยงที่จะขาดทุนต่ำกว่าความเป็นจริง

เรื่องที่ 2 : ยึดติดความเชื่อมั่นในอดีต

อีกหนึ่งปัจจัยคือ หลายคนมีความเชื่อมั่นในโปรเจคของ Luna ที่ในอดีตเป็นเหรียญที่ติดใน 10 อันดับแรกที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดในโลก รวมถึงการที่ผู้ก่อตั้งได้ออกมาประกาศแผนฟื้นฟูที่จะกอบกู้สถานการณ์ของเหรียญ Luna จึงทำให้มีผู้ซื้อขายหน้าใหม่ที่ไม่เคยซื้อ Luna พากันเข้ามาซื้อขายเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี เมื่อมองภาพรวมของผู้ซื้อขายใน Luna พบว่ามีผลตอบแทนที่ขาดทุนโดยคิดเป็น 96%

โดยเมื่อสรุปผลกำไร/ขาดทุนของบัญชีของผู้ซื้อขายแต่ละกลุ่มการศึกษาในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ ดิจิทัลประเทศไทย พบว่ามีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ประมาณ 980 ล้านบาทเลยทีเดียว

จากบทศึกษานี้จะเห็นได้ว่าผู้ซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีเป้าหมายเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น รวมถึงมีการลงทุนตามกระแส และให้ความสนใจกับตัวเลขผลตอบแทนที่สูงเป็นหลัก โดยพร้อมที่จะยอมรับผลขาดทุนเพื่อแลกกับโอกาสที่จะได้กำไรสูงมากในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งในบางครั้งอาจขาดการกระจายการลงทุน และประเมินถึงความเสี่ยงที่จะได้รับ 

ทว่าผลวิจัยในครั้งนี้ “ไม่น่าแปลกใจ” เมื่อเทียบกับผลสำรวจความสนใจสินทรัพย์ดิจิทัล ของคนไทยในงานวิจัย “เผยผลสำรวจความสนใจสินทรัพย์ดิจิทัล ของประชาชนชาวไทย พบ 46% มุ่งเก็งกำไร” ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 65 ก็พบว่า 46% ของคนที่เข้ามาในวงการคริปโทฯ หวังโกยผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ

ขณะที่ภาพรวมผู้ลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความรู้ในสินทรัพย์ดิจิทัลมากนัก จึงมัก ลงทุนตามคำแนะนำของเพื่อน รวมถึงลงทุนตาม Influencer Youtuber หรือกูรูที่เป็นคนดัง ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเริ่มแรก คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนเพราะหวังว่าจะเป็น passive income แต่พอเห็นว่ากำไรดี ได้เงินง่ายจึงเริ่ม ลงทุนมากขึ้น แม้รู้ว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนไปนั้นมีความเสี่ยงสูงก็ตาม

จึงไม่ผิดนักที่จะเรียกสถานการณ์จากการช้อนซื้อ "Luna" ในครั้งนี้ว่า "บทเรียน" เตือนนักลงทุนที่หวังทำกำไรสูงลิบในระยะเวลาอันสั้นจากคริปโทฯ ให้ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

-----------------------------------------------------------

อ้างอิง: ฝ่ายวิจัย ก.ล.ต., ก.ล.ต.