แพ็คเกจ "ปั๊มชาร์จ" ดันตลาดอีวี ชงแผนหนุนค่าไฟ-สิทธิภาษี-แพลตฟอร์ม

แพ็คเกจ "ปั๊มชาร์จ" ดันตลาดอีวี ชงแผนหนุนค่าไฟ-สิทธิภาษี-แพลตฟอร์ม

“บอร์ดอีวี” เตรียมถกมาตรการหนุนสถานีชาร์จ สนพ.ชงหนุนค่าไฟ-สิทธิภาษี-แพลตฟอร์มกลางเอื้อใช้งาน ปี72 ต้องมี 1.3 หมื่นหัวชาร์จ บีโอไอ เกาะติดเทคโนโลยีใหม่เป็นข้อมูลปรับสิทธิประโยชน์ "โออาร์-บางจาก-พีที" ชี้ยอดขายอีวีพุ่งดันลงทุนปั๊มชาร์จ แนะรัฐลดขั้นตอนขอใบอนุญาต

ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการสนับสนุนตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ครอบคลุมรถยนต์ รถจักรยานยนต์และรถกระบะ ได้ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างมาก โดยแนวทางหลังจากนี้จะส่งเสริมการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น

กระทรวงพลังงานได้ศึกษาจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เหมาะสมเพื่อรองรับการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า โดยกำหนดเป้าหมายให้ปี 2573 ควรมีเพิ่มอีก 567 แห่ง รวมมีสถานี 1,394 แห่ง และมีเครื่องอัดประจุไฟรวม 13,251 เครื่อง

สำหรับ สถานีอัดประจุไฟฟ้าในปี 2565-2573 ที่ควรลงทุนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 567 แห่ง ควรเพิ่มขึ้นทั้งในเขตเมืองและเขตทางหลวง เพื่อให้สถานีอัดประจุไฟฟ้ากระจายตัวเพียงพอกับการใช้รถ แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย

1.พื้นที่เขตเมือง 505 แห่ง รองรับเครื่องอัดประจุไฟฟ้า 8,227 เครื่อง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เขตเมืองทุกภาคในประเทศ โดยในด้านจำนวนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กำหนดให้รองรับเครื่องอัดประจุไฟฟ้า 8,227 เครื่อง มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น รองลงมาเป็นภาคกลาง 1,364 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,189 เครื่อง และภาคเหนือ 1,085 เครื่อง

ทั้งนี้หากพิจารณาในด้านจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะเป็นภาคเหนือที่กำหนดให้มีการลงทุนเพิ่มมากที่สุด 158 แห่ง รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 147 แห่ง ภาคใต้ 104 แห่ง ภาคกลาง 76 แห่ง ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล 20 แห่ง

2.พื้นที่เขตทางหลวงทั่วประเทศ ควรมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2565-2572 รวม 62 แห่ง รวมจำนวนเครื่องอัดประจุไฟฟ้า 5,024 แห่ง

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จะประชุมในเดือน ส.ค.2565 เพื่อพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า

เล็งชงมาตรการหนุนปั๊มชาร์จ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.อยู่ระหว่างการนำเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติม  ประกอบด้วย

1.มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า Low Priority สำหรับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ราคา 2.69 บาท 

ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติครั้งล่าสุด เห็นชอบการขยายอัตราค่าไฟฟ้าถึงปี 2568 รวมถึงในด้านสิทธิและประโยชน์สำหรับกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า และได้มอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พิจารณา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการจัดทำ Platform กลาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมาตรการและวิธีการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดและคอนโดมิเนียม

2.มาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนและการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ที่ประชุมมอบหมายให้ BOI และกรมสรรพสามิตพิจารณา

“โดยในขณะนี้ คณะทำงานชุดย่อยอยู่ระหว่างรวมรวมข้อมูลและเตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติม ได้แก่ มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนและการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต” นายวัฒนพงษ์ กล่าว

ต้องตั้งปั๊มชาร์จให้เพียงพอ

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 (พ.ศ.2573)

รวมทั้งการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป็นกลไกสำคัญในการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

ดังนั้น ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป (ICE) พร้อมทั้งกระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะให้เพียงพอกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า 944 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มี.ค.2565) สำหรับจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าถึงเดือน เม.ย.2565 สะสมรวม 5,614 คัน

“บีโอไอ”เกาะติดเทคโนโลยีใหม่

ที่ผ่านมาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้อนุมัติมาตรการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าล่าสุดขยายเวลาสิทธิประโยชน์ส่งเสริมลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้นักลงทุนรายเล็กและสตาร์ทอัพ จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ส่วนกรณีอื่นได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินนิติบุคคล 3 ปี กรณีมีหัวจ่ายประจุไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่าย โดยเป็นประเภท QUICK CHARGE ไม่น้อยกว่า 25%

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ภายหลังที่บีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าไปแล้วจะมีการติดตามและประเมินความสนใจของภาคเอกชน

ขณะเดียวกันต้องดูเทคโนโลยีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วย เพราะในปัจจุบันเริ่มมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการชาร์จมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้บีโอไอได้ศึกษา รวมทั้งรับฟังจากภาคเอกชนเพื่อปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการตั้งสถานีชาร์จหรือจุดชาร์จรถอีวีที่เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนระบบนิเวศน์อีวีในไทย

ปั๊มชาร์จเพิ่มความเชื่อมั่นอีวี

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า อีกส่วนสำคัญที่ผลักดันการใช้รถอีวี คือ สถานีอัดประจุไฟฟ้า เพราะจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้รถ โดยภาครัฐตั้งเป้าหมายจะติดตั้งให้ได้ 12,000 หัวจ่าย ภายในปี 2573 เพื่อรองรับปริมาณการใช้รถอีวีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งแล้ว 944 หัวจ่ายทั่วประเทศ

นอกจากนี้ เห็นด้วยที่ภาครัฐขยายอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการที่จะสิ้นสุดปี 2566 ไปปี 2568 ที่อัตรา 2.63 บาทต่อหน่วย และค่าบริการ 312.25 บาทต่อหน่วย เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ เพราะสถานีชาร์จอัดประจุไฟฟ้ามีต้นทุนสูง แต่จำนวนรถมีน้อยทำให้ผลตอบแทนไม่คุ้มทุนช่วงแรก

“โออาร์”ตั้งเป้า7พันแห่ง

นายภาณุพันธ์ ทรัพย์จรัสแสง ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและซ่อมบำรุงฟิสิคัลแพลตฟอร์ม และผู้อำนวยการโครงการ EV Station PluZ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าของ OR มีรวมกัน 100 สถานี แบ่งเป็น Quick Charge 83 แห่ง และ Normal Charge อีก 29 แห่ง รวมจำนวนหัวชาร์จ CCS2 อยู่ที่ 90 หัวชาร์จ และ CHAdeMO 82 หัวชาร์จ ส่วน AC Type2 อยู่ที่ 150 หัวชาร์จ

ทั้งนี้ OR มีแผนการขยายสถานีชาร์จ โดยปี 2565 จะเพิ่มสถานีชาร์จเป็น 450 แห่ง ทั่วประเทศ และภายในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 7,000 แห่ง ซึ่งความต้องการที่ต้องการจะให้ภาครัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้านั้นมีสิ่งสำคัญ คือ การผลักดันให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสอดรับต่อการขยายตัวของสถานีชาร์จไฟฟ้า

“บางจาก”ผนึกพันธมิตรขยายปั๊ม

นายยศธร อรัญนารถ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและพันธมิตรค้าปลีก บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากฯ ได้ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยร่วมกับพันธมิตรติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีสถานีชาร์จ 56 แห่ง ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก และมีแผนจะเพิ่มอีก 60 แห่งภายในปี 2565

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับ MG มีสถานีชาร์จ 50 แห่ง ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก และมีแผนจะเพิ่มอีก 50 แห่งภายในปี 2565 รวมถึงความร่วมมือกับ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ มีสถานีชาร์จ 1 แห่ง และมีแผนจะเพิ่มอีก 6 แห่งภายในปี 2565

ทั้งนี้ บางจากฯ มีจำนวนสถานีบริการ EV Quick Charging Station กระจายไปทั่วประเทศมากที่สุด ถึง 107 สาขา ซึ่งใช้บริการผ่าน Bangchak Mobile Application พร้อมทั้งตั้งเป้าเพิ่มอีก 150 แห่ง ภายในปี 2565 ยอดสะสมภายในสิ้นปี 2565 จะมีเท่ากับ 257 แห่ง

“พีที”แนะลดขั้นตอนใบอนุญาต

รายงานข่าวจาก บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันได้ขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าผ่านสถานีบริการน้ำมัน PT โดย ณ สิ้นเดือน ก.ค.2565 จะมีทั้งหมด 35 สถานี รวม 70 หัวชาร์จที่เป็น DC โดยตั้งเป้าภายในปี 2565 จะเปิดเพิ่มอีกจำนวน 10-30 สถานี และในปี 2566 เปิดเพิ่มอีก 30-60 สถานี

ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องการให้ภาครัฐเร่งรัดขั้นตอนการให้สิทธิ Low Priority รวมถึงขั้นตอนการดำเนินงานขอใบอนุญาตต่างๆ ในการก่อสร้างและขออนุญาตประกอบกิจการ