สศอ. ชู "สิงห์ปาร์ค" โมเดลต้นแบบ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

สศอ. ชู "สิงห์ปาร์ค" โมเดลต้นแบบ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

สศอ. เผยแผนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ขยายผลสู่ระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดเป้าหมาย นำร่องภาคเหนือตอนบน ชู “สิงห์ปาร์ค” เป็น Role Model

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ดำเนินการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กำหนดพื้นที่นำร่องคือ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยจะมีอุตสาหกรรมนำร่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จากผลผลิตจากพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ เช่น ข้าว ข้าวโพด ลำไย กาแฟ และอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานตามวัฎจักรการหมุนเวียน 

สำหรับแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน จะมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตจากรูปแบบเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย และการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ภายใต้ 3 แนวทางการดำเนินงานหลัก คือ 1. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีศักยภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-efficiency) 2. การเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรม/ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากของเสีย/ วัสดุเหลือใช้ภายในประเทศ (Upcycling) 3. การส่งเสริมการปรับรูปแบบธุรกิจ สร้าง Circular Enterprises/ Startups
 

นอกจากนี้ ยังจัดทำโมเดลต้นแบบ (Role Model) คือ "สิงห์ปาร์ค" ซึ่งเป็นสวนอุตสาหกรรมเกษตรที่ตั้งอยู่จังหวัดเชียงราย เป็นกรณีศึกษาสำหรับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน

ทั้งนี้ ได้กำหนดรูปแบบโมเดลการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบขั้นบันได (5-Step Approach) ประกอบด้วย

1. Eco-efficiency เป็นการดำเนินการจัดการกระบวนการภายในตามหลักการผลิตที่สะอาด (Cleaner Production: PC)

2. Industrial Symbiosis คือการจัดการห่วงโซ่อุปทานกับคู่ค้าหรืออุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่รอบข้าง

3. Waste to Energy เป็นการแปรรูปของเสียเป็นพลังงาน

4. Upcycling การเพิ่มมูลค่าให้กับของเสีย ผ่านกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ใหม่

5. Product Stewardship (Circular Enterprises/ Startups) การปรับโมเดลธุรกิจโดยดำเนินการตามหลักการความรับผิดชอบที่ขยายออกไปของผู้ผลิต

ทั้งนี้ การดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น 6 เดือน - 1 ปี เน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณและคุณสมบัติของเสียและของเหลือใช้จากกระบวนการผลิต เพื่อลดการเกิดของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพิ่มโอกาสในการนำของเสียหรือของเหลือใช้จากกิจกรรมหนึ่งไปใช้ในอีกกิจกรรมหนึ่ง

ระยะกลาง 1–3 ปี จะพิจารณาความเป็นไปได้สำหรับการลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อแปรรูปของเสียหรือของเหลือใช้เป็นพลังงาน รวมถึงสามารถนำมาแปรรูปเป็นวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ได้

ขณะที่ระยะยาว 3 ปีขึ้นไป จะวางแผนพิจารณาการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์และพัฒนาให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคเหนือ และประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงบทบาท ซึ่งจะช่วยให้เกิดความตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน และระบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน