วิกฤติเศรษฐกิจที่ถาโถม กับรัฐบาลที่อ่อนแรง

วิกฤติเศรษฐกิจที่ถาโถม กับรัฐบาลที่อ่อนแรง

เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอยเร็วกว่าที่คาดไว้ แผนการรับมือที่รัฐบาลประกาศออกมาไม่ได้สร้างความเชื่อมั่น สถานการณ์เช่นนี้ นายกรัฐมนตรีต้องปรับแนวทางการทำงานเพื่อรับมือให้ได้ เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอยอาจรุนแรงกว่าที่รัฐบาลคาดไว้

สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 เริ่มต้นนับวาระตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2562 โดยพรรคพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นรัฐบาลผสมที่มีเสถียรภาพไม่ค่อยมั่นคงนัก ซึ่งหากรัฐบาลอยู่ครบวาระก็จะไม่เกินเดือน มี.ค.2566

แต่สถานการณ์การเมืองไม่มีอะไรที่แน่นอน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจประกาศยุบสภาก่อนครบวาระ เพื่อรักษาการในช่วงการเลือกตั้งและช่วงรอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคต

ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตัวเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง เพราะความเป็นรัฐบาลผสมทำให้มีการกระจายกระทรวงเศรษฐกิจให้กับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐที่รวมถึงโควตารัฐมนตรีเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี

แต่ความเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไม่สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนในการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่โถมเข้าสู่รัฐบาลได้ และทำให้หลายครั้งรัฐบาลอยู่ในภาวะตั้งรับสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ถูก

รัฐบาลถูกตั้งคำถามในการรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถขับเคลื่อนแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ถึงแม้ที่ผ่านมาเมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชะลอตัวลง

นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามนำเสนอการปรับประเทศสู่โหมดการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง และท้ายที่สุดรัฐบาลมาจมกับปัญหาเฉพาะหน้าที่การแก้ไขไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคร่วมรัฐบาลที่เพียงพอ

กลไกหลายด้านถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ นับตั้งแต่การจัดตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) และเมื่อโรคโควิด-19 แพร่ระบาดระยะหนึ่งมีการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)

ล่าสุดมีการใช้กลไกสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อรับมือกับวิกฤติพลังงาน โดยจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งทุกชุดมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

นอกจากวิกฤติพลังงานที่กำลังพัดใส่ประเทศอย่างรุนแรงทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 13 ปี รวมถึงประชาชนและผู้ประกอบการมีต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นมาก และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นเครื่องมือสร้างเสถียรภาพน้ำมันและก๊าซติดลบเกิน 100,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมองไม่เห็นทางออก โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอยเร็วกว่าที่คาดไว้ แผนการรับมือที่รัฐบาลประกาศออกมาไม่ได้สร้างความเชื่อมั่น

สถานการณ์เช่นนี้ นายกรัฐมนตรีต้องปรับแนวทางการทำงานเพื่อรับมือให้ได้ เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอยอาจรุนแรงกว่าที่รัฐบาลคาดไว้