เปิด ‘เอ็นพีแอล’10 ธนาคารพาณิชย์ ก่อนจัดตั้ง ‘JV AMC’ลดหนี้เสีย

เปิด ‘เอ็นพีแอล’10 ธนาคารพาณิชย์ ก่อนจัดตั้ง ‘JV AMC’ลดหนี้เสีย

เปิดหนี้เสีย 10ธนาคารพาณิชย์ ก่อนทยอยเห็นแบงก์จัดตั้ง JV AMC ตามนโยบายธปท. หลัง “กสิกรไทย”เจ้าแรก ประเดิมประกาศตั้ง “เจเค เอเอ็มซีร่วม เจเอ็มที ระบายหนี้เสียออกจากแบงก์5หมื่นล้าน

      ภายใต้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธนาคารพาณิชย์ ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะไม่เห็นการเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด แต่ก็เป็นการขยับเพิ่ม หากทั้งมูลค่าหนี้ และสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อในภาพรวม แม้จะสินเชื่อจะยังอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จากผลกระทบของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 
       แม้หนี้เสียไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ แต่ปัญหาหนี้เสียที่ยังไม่หยุดก็สร้างความกังวลให้กับ “สถาบันการเงิน” เพราะเมื่อไหร่ที่มาตรการช่วยเหลือทางการเงินหมดสิ้น ลูกหนี้เหล่านี้อาจไม่สามารถประคองตัวเอง และกลับมามีรายได้ และชำระหนี้ได้ปกติ ดังนั้นอาจเห็น “หนี้เสีย”ค่อยๆไหลเข้ามาในระบบธนาคารมากขึ้นหลังจากนี้

      ด้าน “ธปท.” ก็เห็นถึงความกังวลดังกล่าว จึงพยายามออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ทั้งช่วยฝั่งแบงก์ และฝั่งลูกหนี้ ให้อยู่รอดได้ในระยะยาว รวมไปถึง มาตรการส่งเสริมในการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่ออกมาในต้นปีที่ผ่านมา 
      โดยเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์ สามารถจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ เพื่อหวังช่วยแบงก์ให้มีกลไก ในการเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้เสียทั้งที่อยู่ในระบบวันนี้ และที่กำลังจะทะลักเข้ามาในอนาคต ให้ได้รับการแก้ไขรวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น 

เปิด ‘เอ็นพีแอล’10 ธนาคารพาณิชย์ ก่อนจัดตั้ง ‘JV AMC’ลดหนี้เสีย       ล่าสุด เริ่มเห็นมาตรการเป็นรูปธรรม หลังธนาคารกสิกรไทย ประกาศร่วมกับบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT)ในการจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) ขึ้นมาซึ่งถือเป็นแบงก์แรก 
    โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแก้หนี้เสียครั้งนี้ กสิกรตั้งเป้า จะขายหนี้เสียออกมาภายในปีนี้ 50,000 ล้านบาท ให้กับบริษัท JK AMC เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เสียของธนาคาร ซึ่งหากเทียบกับหนี้เสียที่กสิกรไทยมีอยู่ในระบบวันนี้ ก็ถือว่า ขายไปครึ่งๆ กับหนี้เสียที่ถืออยู่

      ซึ่งจะทำให้ “หนี้เสีย”ของกสิกรไทยลดลงทันที ตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจขายหนี้เสียออกไป ซึ่งก็คือ สิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ก้อนแรกที่ 30,000 ล้านบาท 
    ดังนั้นแน่นอน สิ่งที่อาจเห็นในผลประกอบการ ไตรมาส 2 ปี 2565 ของกสิกรไทยปีนี้ ก็อาจเห็นหนี้เสียลดลงไปอย่างฮวบฮาบ หากจำนวนหนี้เสีย และสัดส่วนหนี้เสียในระบบ ที่วันนี้ มีหนี้เสียรวมอยู่ที่ 106,481 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียที่ 3.78% หากเทียบกับสินเชื่อทั้งหมด
    นอกจากกสิกรไทย ก็มีข่าวว่าหลายธนาคารพาณิชย์อยู่หว่างการจัดตั้ง JV AMC เช่นเดียวกัน ที่ชัดๆคือ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือttb ที่มีข่าวว่าแอบซุ่ม AMC รายใหญ่ที่อยู่ย่านเดียวกันด้วย 
    ล่าสุด “ธปท.”ก็ระบุว่า มีธนาคารพาณิชย์ เข้ามาหารือกับธปท.หลายราย ในการจัดตั้ง JV AMC ซึ่งคาดว่าจะทยอยเห็นมากขึ้น หลังจากนี้ 
    หากกลับมาดู “หนี้เสีย”ของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะ 10ธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารที่มีหนี้เสียสูงที่สุด ณ สิ้นมี.ค. 2565 ในบรรดา 10แบงก์  คือ ธนาคารกรุงไทย(KTB) ที่มีหนี้เสียรวมที่ 106,549 ล้านบาท หรือ 3.34% ของสินเชื่อรวม 
    ถัดมาคือ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ที่มีหนี้เสีย 106,481 ล้านบาท หรือ 3.78% และ ไทยพาณิชย์ 106,305 ล้านบาท หรือ 3.7% ส่วนธนาคารกรุงเทพ(BBL) หนี้เสียอยู่ที่ 102,342 ล้านบาท หรือ 3.3% 
    ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BBL)มีหนี้เสียทั้งระบบอยู่ที่ 46,796 ล้านบาท หรือ 2.03% ขณะที่ทีเอ็มบีธนชาต 42,144 ล้านบาท หรือ2.73% 
    ส่วนแบงก์ขนาดกลาง อย่างธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP)มีหนี้เสียในระบบอยู่ที่ 9,483 ล้านบาท หรือ 2.9% ส่วนซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT) มีหนี้เสียทั้งสิ้น 8,374 ล้านบาท หรือ 3.8%

    และทิสโก้(TISCO) มีหนี้เสียทั้งระบบอยู่ที่ 4,389 ล้านบาท หรือ 2.15% ส่วนธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าท์(LH) มีหนี้เสียทั้งสิ้น 5,142 ล้านบาท หรือ2.54 %
      ซึ่งหากดู “หนี้เสีย”ของทั้ง 10แบงก์ข้างต้นแล้ว ก็ถือว่าไม่ได้น้อย และการลดหนี้เสียได้ก็คงทำได้ไม่ง่าย ดังนั้น JV AMC ก็ “กลไก”หนึ่งในการช่วยบริหารหนี้เสียของแบงก์ให้ลดลงได้ ซึ่งหลังจากนี้อาจเห็นหลายแบงก์เริ่มทยอยประกาศความร่วมมือในลักษณะเดียวกัน “กสิกรไทย”ก็เป็นได้ 
    เพราะไม่เพียงแต่ “หนี้เสีย”ที่ลดลง แต่ทันทีที่ธนาคารมีการขายหนี้เสียออกจากระบบ แบงก์จะได้ 'สภาพคล่อง'คืนกลับมาทันที และสามารถดึงเงินสำรองที่ต้องสำรองเต็ม 100% จากหนี้เสียดังกล่าว มาใช้ต่อยอด ในการปล่อยสินเชื่อ สร้างการเติบโตให้แบงก์ต่อเนื่องได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประโยชน์มีมากกว่าเสียแน่นอน