5 เหตุการณ์ ช่วยกระตุ้น 'ตลาดคริปโท' หลุดพ้นจากขาลง

5 เหตุการณ์ ช่วยกระตุ้น 'ตลาดคริปโท' หลุดพ้นจากขาลง

5 เหตุการณ์ จากความสำเร็จของ The Merge บนอีเธอเรียม การอนุมัติใช้ Spot Bitcoin ETF จาก SEC และนโยบายทางการเงินของเฟดที่คลายตัว -บิตคอยน์ถูกกฎหมาย รวมทั้งการใช้คริปโทเป็นตัวกลางในการชำระเงิน อาจเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นตลาด'คริปโท' หลุดพ้นจากตลาดขาลงได้

     ตลาดคริปโทเคอรร์เรนซี่ปรับตัวลดลงได้สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนคริปโททั่วทั้งตลาด และตั้งคำถามว่า ราคาบิตคอยน์จะลงไปต่ำสุดที่จุดใดและคริปโทวินเทอร์จะจบลงเมื่อใด? ทางด้านผู้ที่มีประสบการณ์ในตลาดนี้รู้ดีว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะคาดการณ์จุดต่ำสุดของบิตคอยน์ และแทนที่จะเสียเวลาไปกับการหาจุดต่ำสุด บางทีอาจเป็นการดีกว่ามากที่จะสำรวจว่าเหตุการณ์ใด ที่อาจช่วยให้ตลาดหลุดพ้นจากตลาดหมีและนำไปสู่วงจรขาขึ้นถัดไป

ความสำเร็จของ The Merge บน Ethereum

     หนึ่งในการพัฒนาที่ถูกตั้งความหวังไว้อย่างสูงที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคือการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายอีเธอเรียม (Ethereum) ในเรื่องของวิธีการได้มาซึ่งเหรียญ จาก Proof-of-work สู่ proof-of-stake

     แม้ว่ากระบวนการนี้จะเป็นขั้นตอนที่ต้องเผชิญกับความล้มเหลวหลายครั้ง แต่ปัจจันบันโครงการนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์  หลังจากการทดลองใช้ The Merge บนเครือข่าย Sepolia ซึ่งประสบความสำเร็จ

     ความสำเร็จของ  The Merge อาจช่วยดึงตลาดคริปโทออกจากตลาดขาลงได้ ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่มีปัญหาและนำไปสู่ความสามารถในการขยายการทำธุรกรรมที่มากขึ้น และประสบการณ์การใช้งานที่เร็วขึ้น และมีความปลอดภัยมากขึ้นที่อาจทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดย The Merge ในรูปแบบสมบูรณ์นั้น คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2565

การอนุมัติ Spot Bitcoin ETF

     การอนุมัติ Spot Bitcoin ETF ในตลาดสหรัฐ เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาหลายปีว่ามันจะสามารถเข้ามาช่วยให้ตลาดคริปโทฟื้นตัว

     Bitcoin ETF คือ กองทุนบิทคอยน์ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนตามมูลค่าตลาดของ Bitcoin โดยที่เราสามารถซื้อขายเหมือนกับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แบบดั้งเดิมได้

     ไทเลอร์-คาเมรอน วิงเคิลวอส มหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์จากบิตคอยน์ เสนอ Bitcoin ETF ครั้งแรกเมื่อปี 2560 แต่ถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐอเมริกา (SEC)ปฏิเสธ และมีการปฏิเสธหลายครั้งสำหรับข้อเสนอ Bitcoin ETF ด้วยเหตุผลที่ว่า ตลาดคริปโทนั้นไม่มีการป้องกันที่เหมาะสมเพื่อปกป้องนักลงทุน

     หาก Spot Bitcoin ETF ได้รับการอนุมัติ มันจะนำไปสู่ความชอบธรรมของบิตคอยน์และสินทรัพย์ ดิจิทัลที่ดีขึ้น และสิ่งที่มีศักยภาพที่จะนำไปสู่การยอมรับของสถาบันต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่จุดสิ้นสุดของตลาดขาลง เนื่องจากมีเงินทุนใหม่ไหลเข้าสู่ตลาดอย่างมหาศาล

นโยบายทางการเงินของ Fed

     “อย่าต่อสู้กับเฟด” เป็นสำนวนทั่วไปที่นักลงทุนใช้เพื่ออธิบายหนึ่งในพลังที่มีอิทธิพลมากที่สุดในตลาดการเงินโลก 

     ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก แต่แล้วเฟดได้อนุมัติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่าสามปี ซึ่งเฟดได้ดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสองครั้งที่ 0.5% และ 0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในช่วง 1.5% ถึง 1.75%

     จากการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับตัวลดลง โดย บิตคอยน์ลดลงจาก 48,000 ดอลลาร์ ในเดือน มี.ค. 2565 ลงมาอยู่ที่ระดับ 20,000 ดอลลาร์ในเดือนก.ค.2565

     เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลในตลาดช่วงปี 2564 นั้นได้รับแรงหนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเฟด หากนโยบายทางการเงินที่คลายความกังวลจะทำให้นักลงทุนนำเงินเข้ามาลงทุน ทำให้ตลาดคริปโทมีเงินทุนหมุนเวียน

‘บิตคอยน์’ ถูกกฎหมาย

     เอลซัลวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่นำบิตคอยน์มาใช้เป็นเงินที่ถูกกฎหมายในปี 2564 ตามด้วยสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (CAR) เป็นประเทศที่สองในปี 2565 โดยทั้งสองประเทศมีเป้าหมายระยะยาวสำหรับกฎหมายดังกล่าว 

     แต่ทว่าการยอมรับบิตคอยน์จากประเทศที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ช่วยดึงความสนใจจากประชากรทั่วโลกในการยอมรับบิตคอยน์เท่าไหร่นัก แต่ถ้าหากประเทศใหญ่ๆที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างญี่ปุ่น หรือเยอรมันคงทำให้บิตคอยน์ถูกพิจารณามากขึ้นในการเป็นตัวกลางทางการเงินที่ถูกต้อง

     รวมทั้งสงครามความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย และวิกฤติการขาดแคลนอาหาร กำลังผลักดันให้รัฐบาลรัสเซียพิจารณาการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง บิตคอยน์ เพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ  

บริษัทขนาดใหญ่ใช้ 'คริปโท' เป็นตัวกลางในการชำระเงิน

     ทำไมผู้คนถึงไม่ใช้บิตคอยน์หรือคริปโทในการเป็นตัวกลางซื้อขายสินค้าอย่างแพร่หลาย เพราะว่ายังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก แม้ว่าจะมีช่องทางในการเป็นตัวกลางเช่น บัตรเดบิตและการชำระเงินออนไลน์ร่วมกับแพลตฟอร์มอย่าง Shopify แต่ความสามารถในการซื้อสินค้าโดยการทำธุรกรรมโดยตรงบนเครือข่ายบล็อคเชนนั้นก็ยังค่อนข้างจำกัด

     อีลอน มัสก์ พูดถึงระบบการชำระเงินด้วยบล็อคเชนหลายต่อหลายครั้ง  ก็สามารถทำให้ตลาดคริปโทเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เหรียญบางตัวมีราคาปรับตัวขึ้น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการยอม และชำระเงินด้วยคริปโทในบริษัทใหญ่ๆ เช่น Amazon หรือ Apple อาจทำให้เกิดโมเมนตัมเชิงบวกต่อตลาดคริปโทได้

 

อ้างอิง: cointelegraph.com