ททท. จ่อชง ศบศ. "เว้นค่าวีซ่า" ทัวริสต์ ดึงเม็ดเงิน 7 พันล้านบาทหมุนเวียน ศก.

ททท. จ่อชง ศบศ. "เว้นค่าวีซ่า" ทัวริสต์ ดึงเม็ดเงิน 7 พันล้านบาทหมุนเวียน ศก.

“ททท.” เตรียมชง “ศบศ.” พิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยวและค่าวีซ่าหน้าด่าน พร้อมขยายเวลาพำนักในไทยเป็นสูงสุด 45 วัน มีผลตั้งแต่อนุมัติจนถึงสิ้นปี 65 หวังดึงทัวริสต์พักนานขึ้น จับจ่ายเม็ดเงินในไทยแทน 5-7 พันล้านบาท กระตุ้นการหมุนเวียนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป ก้าวสู่การเปิดประเทศเต็มรูปแบบ อำนวยความสะดวกเหมือนภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 พบยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวดีขึ้น พุ่งมาอยู่ในระดับ 4 หมื่นคนต่อวัน จากเฉลี่ยตลอดเดือน มิ.ย.อยู่ที่ประมาณ 2.5-3 หมื่นคนต่อวัน

นอกเหนือจากการกระตุ้นตลาดในเชิงจำนวนแล้ว โจทย์สำคัญคือการเพิ่มวันพำนักและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว หนุนเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวไทยปี 2565 ที่ 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 50% เมื่อเทียบกับรายได้รวม 3 ล้านล้านบาทของปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนท่องเที่ยวมีข้อเสนอขอให้รัฐบาลพิจารณา “ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า” มีผลตั้งแต่อนุมัติจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติพำนักในประเทศไทยนานขึ้น โดยขอยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยว (Tourist Visa) 1,000 บาทต่อคน และค่าธรรมเนียมวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival : VoA) 2,000 บาทต่อคน

พร้อมขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาพำนักในไทยของวีซ่านักท่องเที่ยวจาก 30 วัน เป็น 45 วัน และขยายเวลาพำนักของวีซ่าหน้าด่าน (VoA) จาก 15 วัน เป็น 45 วัน สอดรับกับปีท่องเที่ยวไทย 2565-2566 (Visit Thailand Year 2022-2023)

“ประเด็นหลักที่ภาคเอกชนท่องเที่ยวและ ททท.มองคือ นักท่องเที่ยวแต่ละคนจะมีงบในการเดินทางท่องเที่ยวอยู่แล้ว ถ้าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมวีซ่า ก็จะนำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายในประเทศไทย โดยถ้านับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในครึ่งปีหลังอีก 5-7 ล้านคน จะคิดเป็นเงินประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้จ่ายในประเทศไทยแทน ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ สร้างโอกาสในการใช้จ่ายสู่เศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอินเดียที่นิยมเดินทางมาเป็นกลุ่มครอบครัว ถ้าไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมวีซ่า 8,000-10,000 บาทต่อกลุ่ม ก็จะนำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายในประเทศไทยเพิ่ม”

โดย ททท.จะนำเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งตอนนี้ยังไม่กำหนดวันประชุม และรอเรียกประชุมอยู่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้จะต้องพิจารณาร่วมกันหลายหน่วยงาน เนื่องจากการขอวีซ่าปกติจะเกี่ยวข้องกับกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนวีซ่าหน้าด่าน (VoA) เป็นความรับผิดชอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

โดยประเด็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ททท.ไม่ได้มองในเชิงที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น แต่มองว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า

 

++ ยกเลิกไทยแลนด์พาส ทัวริสต์ 4 หมื่นคน/วัน

นายยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป ซึ่งได้ยกเลิกระบบ Thailand Pass ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพิ่มขึ้นเป็น 38,000-40,000 คนต่อวัน จากเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 25,000-30,000 คนต่อวัน

“หากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเดินทางเข้ามาด้วยจำนวนปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกิน 1 ล้านคนต่อเดือน ททท.คาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 3 ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนละ 1 ล้านคน และไตรมาสที่ 4 ตั้งแต่เดือน ต.ค-ธ.ค. เดือนละ 1.5 ล้านคน รวมตลอดทั้งปีนี้ 9.5 ล้านคน แต่ยังต้องแก้อุปสรรคเรื่องเที่ยวบินเข้าประเทศไทยที่ยังมีจำนวนน้อยให้ได้ก่อน”

ด้านสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนสะสม 2,124,326 คน โดย 10 อันดับแรกที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด ได้แก่ 1.อินเดีย 234,206 คน 2.มาเลเซีย 196,764 คน 3.สิงคโปร์ 127,371 คน 4.สหราชอาณาจักร 125,284 คน 5.สหรัฐ 107,544 คน 6.เยอรมนี 97,457 คน 7.ออสเตรเลีย 79,582 คน 8.กัมพูชา 74,825 คน 9.ฝรั่งเศส 73,654 คน และ 10.รัสเซีย 70,762 คน

 

++ คาดอัตราเข้าพักโรงแรม Q4 มากกว่า 50%

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน มิ.ย.2565 จัดโดยสมาคมโรงแรมไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจระหว่างวันที่ 13-26 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 137 แห่ง (รวมโรงแรมที่เป็น AQ, Hospitel และ Hotel Isolation) พบว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือน มิ.ย. เฉลี่ยอยู่ที่ 38% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก พ.ค.ที่มี 36% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยเพิ่มขึ้น

หลังมีการผ่อนคลายนโยบายการเปิดประเทศเพิ่มเติม โดยอัตราการเข้าพักของโรงแรมปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้และภาคตะวันออกที่ปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ประกอบกับผลของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่ทยอยหมดลง

สำหรับอัตราการเข้าพักในเดือน ก.ค. 65 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. ส่วนหนึ่งจากการยกเลิกระบบ Thailand Pass สำหรับชาวต่างชาติ และการขยายสิทธิโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ส่วนขยาย” อีกจำนวน 1.5 ล้านสิทธิใหม่ ซึ่งได้เริ่มเปิดจองสิทธิเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

“หลังการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โรงแรมส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราการเข้าพักในช่วงไตรมาส 4 นี้ จะมากกว่า 50% โดยเฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่ (มากกว่า 250 ห้อง)”

 

++ เงินเฟ้อทั่วโลกกดดันการฟื้นตัว

สำหรับการยกเลิก Thailand Pass และไม่บังคับสวมหน้ากากอนามัย ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจโรงแรม พบสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยปัจจัยสนับสนุนหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น มาจากความต้องการท่องเที่ยวไทยในระดับสูง เนื่องจากไม่ได้ท่องเที่ยวต่างประเทศมานาน และเข้าสู่วันหยุดหน้าร้อน (Summer Holiday) ของนักท่องเที่ยวยุโรป และการเข้าสู่ช่วงหยุดโรงเรียน (School Holiday) ของนักท่องเที่ยว

“ปัจจัยที่กดดันขณะนี้คือปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการโดยสารเที่ยวบินระยะไกล โดยสถานการณ์ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ แม้จะมีการประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบ แต่เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาทันทีเหมือนกับช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด”

 

++ โรงแรมขาดแคลน พนง. กระจายทุกแผนก

ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ต้องดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมง เป็นงานบริการที่ต้องเน้นคุณภาพและความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องเตรียมพนักงานไว้เพื่อรองรับการให้บริการทุกช่วงเวลา ทำให้แบกรับภาระต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนหรือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมีจำนวนสูงขึ้น ส่งผลให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น สวนทางรายได้ หากต้องปรับราคาค่าบริการ ก็จะพยายามปรับให้น้อยที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้บริการ อีกหนึ่งความท้าทายคือขาดแคลนแรงงาน เพราะช่วงโควิด-19 ระบาด มีแรงงานกลับภูมิลำเนาและไม่กลับมา

สมาคมโรงแรมไทยทราบถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานและบุคลากรที่มีทักษะภาคธุรกิจโรงแรมในขณะนี้ ปัญหาดังกล่าวจะกระจุกอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี และพบว่าแรงงานที่ขาดแคลนจะกระจายอยู่ในตำแหน่งต่างๆ เกือบทุกแผนก

ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรับพนักงานที่ขาดทักษะเข้ามาทำงานเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่งผลให้คุณภาพการบริการลดลง สมาคมฯจึงอยากขอการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคธุรกิจโรงแรม และการพัฒนาทักษะแรงงาน