7-11 จับมือ สถาบันรหัสสากล ใช้บาร์โค้ด 2 มิติ สินค้ากลุ่ม Ready to Eat

7-11 จับมือ สถาบันรหัสสากล ใช้บาร์โค้ด 2 มิติ สินค้ากลุ่ม Ready to Eat

กลุ่มซีพีออล์ ร่วมมือ สถาบันรหัสสากล เป็นผู้นำเทคโนโลยีบาร์โค้ด 2 มิติ บนสินค้ากลุ่มบริโภค Ready to Eat แจ้งเตือนสินค้าหมดอายุที่จุดขาย

นายชาคริต เฮงสิริกุล Head of Unit, Research & Knowledge, Architecture & Design Group บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในกลุ่ม ซีพี ออลล์ กล่าวว่า เซเว่น อีเลฟเว่นให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้บริโภคและพยายามพัฒนานวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง จึงได้จับมือกับ GS1 ในการประยุกต์ใช้บาร์โค้ด 2 มิติ ถือเป็นค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีบาร์โค้ด 2 มิติประเภท GS1 DataMatrix ไปประยุกต์ใช้ในการแจ้งเตือนสินค้าหมดอายุที่จุดขาย นอกเหนือจากวันหมดอายุที่ตีพิมพ์ไว้บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค

โดยได้เริ่มนำร่องกับสินค้าในกลุ่มอาหารพร้อมทาน (Ready to Eat) ที่ผลิตโดยบริษัท ซีพีแรมจำกัด  ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลรหัสสินค้า ล็อตการผลิต และวันที่ควรบริโภคก่อน ลงในสัญลักษณ์บาร์โค้ด 2 มิติประเภท GS1 DataMatrix ที่พิมพ์ลงบนบรรจุภัณฑ์สินค้าโดยตรงในไลน์การผลิตเมื่อแคชเชียร์สแกนบาร์โค้ดดังกล่าวที่จุดขาย เครื่องคอมพิวเตอร์จะแสดงราคาสินค้าพร้อมกับตรวจสอบวันที่ควรบริโภคก่อน หากพบว่าสินค้าดังกล่าวเลยกำหนดวันที่ควรบริโภคก่อน ระบบจะระงับการขายสินค้าชิ้นนั้น พร้อมกับแจ้งเตือนไม่ให้แคชเชียร์นำส่งสินค้าชิ้นนั้นแก่ผู้บริโภคและต้องดำเนินการกำจัดทิ้งตามกระบวนการหน้าร้านทันที 

นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานในการตรวจเช็ควันหมดอายุของสินค้า ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการทำงานและเพิ่มความถูกต้องในการตรวจสอบ

นายคมสัน เหล่าศิลปเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) กล่าวว่า GS1 Thailand เป็นหน่วยงานภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนออกเลขหมายบาร์โค้ดสินค้าตามมาตรฐานสากล GS1 ประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพียงแห่งเดียว ซึ่งช่วยดูแลการออกเลขบาร์โค้ดให้แก่ผู้ประกอบการไทยและสปป.ลาวมากว่า 40 ปี และมีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้งานระบบมาตรฐานสากล GS1 ให้ตรงตามมาตรฐานและครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

ปัจจุบัน บาร์โค้ดตามมาตรฐานสากล GS1 มีอยู่หลายรูปแบบที่ผู้ประกอบการต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ต่างๆ ในการบริหารจัดการซัพพลายเชน ทั้งบาร์โค้ด 1 มิติประเภท EAN-13/UPC-A ที่ใช้บันทึกรหัสสินค้าเพื่อช่วยคิดราคาที่จุดขายหรือตัดสต๊อก และบาร์โค้ด 2 มิติ ประเภท GS1 Data Matrix หรือ QR Code: Digital Link ที่สามารถบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมได้มากขึ้นทั้งล็อตการผลิต วันหมดอายุ หรือหมายเลขซีเรียล (Serial Number) ที่บ่งชี้สินค้าได้ในระดับรายชิ้น ช่วยปลดล็อคความต้องการในการติดตามสินค้าระดับรายล็อตหรือรายชิ้นได้ตลอดซัพพลายเชน รวมทั้งยังช่วยป้องกันการขายสินค้าหมดอายุที่จุดขายในอุตสาหกรรมค้าปลีกได้