เปิด 4 ทางเลือกรัฐบาลดึงกำไร 'โรงกลั่น' ช่วย 'กองทุนน้ำมันฯ'

เปิด 4 ทางเลือกรัฐบาลดึงกำไร 'โรงกลั่น' ช่วย 'กองทุนน้ำมันฯ'

จับตา "ประยุทธ์" นั่งหัวโต๊ะถก “สนช.” เร่งดันแผนรับมือวิกฤติพลังงาน โดยเฉพาะ 4 แนวทาง รีดกำไร 6 โรงกลั่นเสริมสภาพคล่อง “กองทุนน้ำมัน” หลังตดลบแล้วกว่า 1 แสนล้าน  

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขณะนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เร่งให้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ดำเนินการหารือกับกลุ่มโรงกลั่น เพื่อจะขอนำกำไรจากการกลั่นน้ำมันในช่วงนี้มาเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ ได้ตั้งคณะอนุทำงานโดยมีตัวแทนทั้งฝั่งกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงตัวแทนจากกลุ่มโรงกลั่นมาหารือร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม จากการหารือที่ผ่านมายังไม่สามารถสรุปข้อกฎหมายที่จะยืนยันถึงการขอเงินจากกำไรโรงกลั่นมาเข้ากองทุนน้ำมันได้ เนื่องจากทั้ง 6 โรงกลั่นดำเนินธุรกิจภายใต้การค้าเสรี และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ต้องดำเนินการภายใต้หลักธรรมาภิบาลและยึดถึงผลประโยชน์องค์กรแล้วต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพะผู้ถือหุ้นเป็นหลัก

 

 

สำหรับในส่วนของราคาพลังงานที่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับค่าการกลั่น โดยกระทรวงพลังงานได้วางกรอบแนวทางที่แคบลง ใน 4 แนวทาง ประกอบด้วย

1. การใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรา 27 มาเก็บกำไรจากโรงกลั่น

2. เงินปันผลโดยโรงกลั่นเสนอจะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้มากที่สุดจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกให้ผู้ถือหุ้น และ ปตท.จะได้เงินปันผล และจ่ายเงินให้กับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ปตท.เพื่อนำรายได้ส่วนนี้ไปจัดสรรช่วยเหลือกองทุนน้ำมันฯ

3.การออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีลาภลอย 

และ 4.ขอรับเป็นเงินบริจาคโดยขอให้โรงกลั่นช่วยบริจาคกำไรเข้ามาให้กับกองทุนน้ำมันตามความสมัครใจ 

โดยทางออกที่กระทรวงพลังงานจะนำเสนอถือเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้หมด แต่รัฐบาลจะเลือกใช้วิธีการใด เพื่อไม่ให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบตารมมาโดยเฉพาะช่องโหว่ของกฎหมายป้องกันการฟ้องร้องในอนาคต

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (4 ก.ค.) เวลา 15.00 น.

ประกอบด้วยกระทรวงด้านความมั่นคงและกระทรวงด้านเศรษฐกิจจะพิจารณาแผนรองรับวิกฤติพลังงานและอาหาร ได้จัดทำแผนรับมือวิกฤติทั้ง 2 เรื่อง โดยแผนจะมี 3 ระยะ คือแผนระยะสั้น 3 เดือน แผนระยะกลาง 6 เดือน และแผนระยะยาวครอบคลุมปี 2566

ทั้งปี ก่อนที่จะมีการนำเสนอแผนให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำแผนต่อเนื่องที่เชื่อมโยงกับแผนหลักของประเทศเพื่อรับมือกับวิกฤตที่มีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ