จับตา "ประยุทธ์"นั่งหัวโต๊ะประชุมรับวิกฤติพลังงานสัปดาห์นี้ สมช. - กพช.

จับตา "ประยุทธ์"นั่งหัวโต๊ะประชุมรับวิกฤติพลังงานสัปดาห์นี้ สมช. - กพช.

จับตาสัปดาห์นี้ "ประยุทธ์"นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมสำคัญเรื่องเกี่ยวข้องกับพลังงานทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ กพช. หลัง สนช.สรุปแผนรับมือวิกฤติพลังงานที่ส่อลากยาว เตรียมสั่งการไปยังทุกกระทรวงเศรษฐกิจทำแผนรับมือต่อเนื่อง "กรณ์"ตามติดคืบหน้าค่าการกลั่น

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าสืบเนื่องจากสถานการณ์การสู้รบที่ยามนานระหว่างรัสเซีย - ยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูงและมีความผันผวน ส่งผลต่อเนื่องมายังประเทศไทยทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องโดยรัฐบาลมีการอุดหนุนราคาพลังงานในส่วนของน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม และกองทุนน้ำมันติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท 

ในสัปดาห์นี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมสำคัญที่ทำเนียบรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการรับมือวิกฤติพลังงาน 2 คณะในวันที่ 4 ก.ค. และในวันที่ 6 ก.ค.นี้ 

 โดยในวันนี้ (4 ก.ค.) เวลา 15.00 น. นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เต็มคณะทั้งกระทรวงด้านความมั่นคงและกระทรวงด้านเศรษฐกิจเพื่อพิจารณาแผนรองรับวิกฤติพลังงานและอาหาร

 ก่อนหน้านี้พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการ สมช.ระบุว่าได้มีการเชิญหน่วยงานเศรษฐกิจ และตัวแทนภาคเอกชนเข้ามาประชุมเพื่อจัดทำแผนรับมือวิกฤติทั้งสองเรื่อง โดยแผนจะมี 3 ระยะ คือแผนระยะสั้น  3 เดือน แผนระยะกลาง 6 เดือน และแผนระยะยาวครอบคลุมปี 2566 ทั้งปี ก่อนที่จะมีการนำเสนอแผนให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำแผนต่อเนื่องที่เชื่อมโยงกับแผนหลักของประเทศเพื่อรับมือกับวิกฤติที่มีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ

 

ส่วนในวันพุธ ที่ 6 ก.ค. เวลา 9.30 น.นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยวาระหลักคือการพิจารณาเรื่องการนำเข้าก๊าซของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จากต่างประเทศ 

นอกจากนี้ยังต้องจับตาดูเรื่องการพิจารณาเกี่ยวกับการขยับการช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันดีเซลจากเดิมที่รัฐบาลกำหนดเพดานในการช่วยเหลือในมาตรการช่วยเหลือไว้ที่ 35 บาทต่อลิตร และในส่วนที่ราคาเกินกว่า 35 บาทต่อลิตร รัฐบาลจะเข้าไปอุดหนุนในสัดส่วน 50% ของราคาน้ำมันซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้มาจนถึงช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูงเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจต้องปรับเพดานการตรึงราคาดีเซลเป็นลิตรละ 38 บาทให้สอดคล้องกับการที่ทยอยปรับเพิ่มราคาน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาเป็นระยะๆ ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี นายสพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานเป็นประธานว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลในสัปดาห์นี้หรือไม่ หรือจะคงราคาไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาท ต่อไปอีกสัปดาห์ 

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.คลัง กล่าวว่าสังคมต้องจับตาการประชุม สมช.ในวันนี้

พร้อมกล่าวว่าจากข้อมูลที่มีอยู่ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ราคานํ้ามันดิบอยู่ในระดับเดียวกันกับวันนี้ที่ราคา 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่ากัน แต่ราคาดีเซลหน้าปั๊มถูกกว่ากันถึง 5 บาทต่อลิตร

โดยนายกรณ์ได้ชี้ให้นายกรัฐมนตรีเห็นว่า หากดูราคาค่าการกลั่น พบว่าคือ สาเหตุที่แท้จริงว่าเพราะเหตุใดราคาน้ำมันจึงแพง และในปี54 สามารถทำให้ราคาน้ำมันตํ่ากว่าปัจจุบันถึง 5 บาท นี่คือสาเหตุที่ตนยํ้าเรื่องนี้มาตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า วันนั้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เราเก็บภาษีน้อยกว่าปัจจุบัน และไม่ต้องใช้กองทุนน้ำมันชดเชยมากเท่าวันนี้ด้วย ดังนั้นที่อ้างว่าค่าการกลั่นสูงเพราะ ราคานํ้ามันดิบสูงนั้นไม่จริง และขอเสริมว่าด้วยค่าการกลั่นที่ราคาแค่บาทกว่าๆ ในปีนั้น โรงกลั่นกำไรดีทุกโรง 

“หลังการประชุม สมช.เสร็จ ผมตั้งใจว่า Live ตอบคำถามประชาชนที่ประสบปัญหาเรื่องของแพง จากราคาน้ำมันแพง รวมถึงการแก้ปัญหาจากเชิงโครงสร้างที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจทำได้เลยทันที รอติดตามกันนะครับ” หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวทิ้งท้าย