เปิดแผนลงทุน EEC  3.3 แสนล้าน ปี 66 - 70 ยกระดับคมนาคมภาคตะวันออก

เปิดแผนลงทุน EEC  3.3 แสนล้าน ปี 66 - 70 ยกระดับคมนาคมภาคตะวันออก

ครม.ไฟเขียวแผนดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค 3.37 แสนล้าน ปี 66 - 70 มั่นใจ EEC จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของไทย-อาเซียน ในอนาคตสร้างงานอีก 1 แสนตำแหน่งใน 5 ปี ลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้16%

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (28 มิ.ย.) ได้เห็นชอบแผนดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค รวมทั้งมาตรการส่งเสริมและเทคโนโลยีในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับโครงข่ายคมนาคม พ.ศ.2566 - 2570 ทั้งหมดรวม 77 โครงการ วงเงินรวม 3.37 แสนล้านบาท

โดยรัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้นี้พื้นที่อีอีซีจะกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีทั้งของไทยและภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ซึ่งก็เป็นความภูมิใจของไทยทุกคนด้วย

“เรื่องอีอีซีเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลก็คือการพัฒนาพื้นที่EECซึ่งรัฐบาลได้วางรากฐานไว้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 ทั้งการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ระบบโครงข่ายคมนาคมไร้รอยต่อ ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ หลายอย่างอยู่ในระหว่างดำเนินการ

แม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง ก็ต้องดำเนินการหาวิธีการที่เหมาะสม และให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ เพื่อยกระดับระบบการขนส่ง โลจิสติกส์ เพื่อรองรับเมืองใหม่ อัจฉริยะ อุตสาหกรรมอัจฉริยะ พลังงานสะอาด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พร้อมเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการ โครงสร้างพื้นฐานฯ พ.ศ. 2566 – 2570 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ประกอบด้วย โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค รวมถึงมาตรการส่งเสริมและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับโครงข่ายคมนาคม 77 โครงการ กรอบวงเงินรวม 337,797 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนโดยภาครัฐ 53% จากงบประมาณประจำปี เงินกู้ เงินรัฐวิสาหกิจ เงินกองทุน จำนวน 61 โครงการ วงเงินรวม 178,578 ล้านบาท และการลงทุนโดยเอกชน โครงการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน(พีพีพี) 16 โครงการ วงเงินรวม 159,219 ล้านบาท คิดเป็น 47%

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบคมนาคม สนับสนุนระบบโลจิสติกส์และระบบขนส่งสาะรณะแบบไร้รอยต่อให้ทันสมัย โดยสามารถลดต้นทุนด้านการขนส่งของประเทศลงได้ประมาณ 16% ต่อปี เชื่อมต่อการเดินทางจากพื้นที่อีอีซีเข้าสู่พื้นที่ของกรุงเทพมหานครภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง ด้วยรถไฟความเร็สูง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยโครงการในภาพรวม โดยโครงการแบ่งเป็นหลายระยะได้แก่

1.ระยะเร่งด่วน เริ่มต้นปี 2566 จำนวน 29 โครงการ วงเงิน 125,599 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อรองรับ รถไฟความเร็วสูง (HSR) ระยะที่ 1 (ชลบุรี – บ้านบึง – EECi และระยอง – บ้านค่าย – EECi) โครงการก่อสร้างไฮท์ สปรีด แท็กซี่ เวย์ และแท็กซี่ เวย์ เพิ่มเติม ของท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการพัฒนาระบบการจราจรขนส่งอัจฉริยะ โครงการจัดหาพลังงานสะอาด

2.ระยะกลาง (2567 – 2570) จำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 212,197 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงศรีราชา – ระยอง โครงการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบ M-Flow บนมอเตอร์เวย์สาย 7 โครงการพัฒนาการให้บริการท่าเรือเชิงพาณิชย์ (ท่าเรือสัตหีบ) โครงการ Dry Port ฉะเชิงเทรา โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 1 

นายธนกร กล่าวว่าจากการลงทุนตามแผนในพื้นที่อีอีซีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ด้านเศรษฐกิจ เช่น เกิดการจ้างงานระหว่างก่อสร้าง ปี 2566-2570 เฉลี่ยประมาณ 20,000 ตำแหน่ง/ปี รวม 1 แสนตำแหน่งใน 5 ปี และปี 2571-2580 ประมาณ 12,000 ตำแหน่ง/ปี

รวมทั้งเป็นการยกระดับ National Gateway สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่การลงทุน และการท่องเที่ยวของพื้นที่อีอีซีด้านสังคม เช่น มีระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย คุณภาพสูง เชื่อมการเดินทาง แบบไร้รอยต่อ สะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และมีระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพที่ดี รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ส่วนผลประโยชน์ด้านโลจิสติกส์ เช่น มีเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้น 275 กิโลเมตร และมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 155 กิโลเมตร สนามบินอู่ตะเภาสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคน/ปี ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านตู้/ปี และรองรับรถยนต์ได้ 3 ล้านคัน/ปี และท่าเรือมาบตาพุดสามารถรองรับสินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านตัน/ปี