MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 27 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2565

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 27 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2565

เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยเคลื่อนไหวอย่างผันผวน แม้ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่งครั้งใหม่ แต่การอ่อนค่ายังคงเป็นไปตามทิศทางของสกุลเงินเอเชียในภาพรวมท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย

•    หุ้นไทยผันผวน แต่ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ จากแรงหนุนของตัวเลขส่งออกไทยที่ออกมาดีกว่าคาด 
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง และทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่งครั้งใหม่ที่ 35.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากความหวังต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี และมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากสัญญาณซื้อสุทธิหุ้นไทยของต่างชาติ และการขยับแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินเอเชียตามทิศทางของค่าเงินหยวน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากรายงานข่าวที่ระบุว่า ทางการจีนเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขาย ซึ่งอาจจะเป็นการปรับโพสิชันก่อนจบช่วงครึ่งแรกของปี

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่งครั้งใหม่ในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับสัญญาณล่าสุดจากประธานเฟดยังคงย้ำถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงที่ปัญหาเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงยาวนาน 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 27 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2565

 

ในวันศุกร์ที่ 1 ก.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 มิ.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.-1 ก.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,495 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET INFLOW เข้าสู่ตลาดพันธบัตร 62.2 ล้านบาท (โดยแม้ต่างชาติจะซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 482.2 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 420 ล้านบาท) 
 

สัปดาห์ถัดไป (4-8 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.00-36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติ และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของไทย  ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนมิ.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมิ.ย. ของจีน ยุโรป และอังกฤษ และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค.ของยุโรปด้วยเช่นกัน

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนต่อเนื่อง ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ประกอบกับมีแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามา ก่อนจะร่วงลงแรงในเวลาต่อมาหลังนักลงทุนกลับมากังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยอีกครั้ง ขณะที่เฟดยืนยันจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อต่อไป อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์สวนทางตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากตัวเลขส่งออกไทยล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด ประกอบกับมีแรงซื้อคืนหุ้นหลายกลุ่ม อาทิ อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยี และธนาคารที่ได้รับอานิสงส์จากการยกเลิกเพดานการจ่ายเงินปันผล

 

 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 27 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2565

ในวันศุกร์ (1 ก.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,572.67 จุด เพิ่มขึ้น 0.25% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 59,307.70 ล้านบาท ลดลง 4.26% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.49% มาปิดที่ 597.48 จุด     

 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,550 และ 1,535 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,580 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงประเด็นรัสเซีย-ยูเครน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนมิ.ย. รวมถึงบันทึกการประชุมเฟด  ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI เดือนมิ.ย. ของจีน ญี่ปุ่น อังกฤษและยูโรโซน