กฟผ.เร่งแผน “ลดคาร์บอน” ลุยตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่

กฟผ.เร่งแผน “ลดคาร์บอน” ลุยตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่

“กฟผ.ประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน จะลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050”

การผลักดันใช้พลังงานหมุนเวียนและการกักเก็บพลังงานจะทำให้เกิดขยะจากการใช้งานแบตเตอรีจากทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการใช้แผงโซลาร์เซลเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ศึกษาแนวทางการจัดตั้ง โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่และแผงโซลาร์เซลล์ รวมทั้งได้ร่วมศึกษากับกรมโรงงานอุตสาหกรรมถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนตั้งโรงงานรีไซเคิลแห่งแรกในประเทศไทย

“อีกไม่กี่ปีจะเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ เพราะแผงโซลาร์จะหมดอายุ จึงร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและการไฟฟ้า 3 แห่ง ในรูปแบบตั้งโรงงานโดยภาครัฐจะต้องสนับสนุนภาครัฐออกกฎหมายด้วย”

ทั้งนี้ ขยะจากแผงโซลาร์เซลล์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ (PDP) ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรรี่และแผงโซลาร์เซลล์ที่ครบวงจร โดยการกำจัดที่ผ่านมาจะใช้วิธีการส่งออกไปโรงงานรีไซเคิลในต่างประเทศ คือ เบลเยียม สิงคโปร์และญี่ปุ่น 

กฟผ.เร่งแผน “ลดคาร์บอน” ลุยตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบจะพิจารณาตามภูมิภาคและเลือกจังหวัดที่มีการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์มากที่สุดก่อน โดยการสำรวจพบว่าภาคกลางเป็นพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์มากที่สุด คือ 1,318 เมกะวัตต์ รองลงมาเป็นภาคตะวันตก 469 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 423.6 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 422 เมกะวัตต์ ภาคเหนือ 177 เมกะวัตต์ และภาคใต้ 41.01 เมกะวัตต์

บุญญนิตย์ กล่าวว่า กฟผ.เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ออกมาประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” คือ

1.Sources Transformation ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต

2.Sink Co-Creation การเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน อาทิ โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5-7.0 ล้านตัน ในปี พ.ศ.2588

3.Support Measures Mechanism กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนช่วยให้ผู้ใช้ไฟรู้ว่าตอนนี้ใช้แอร์ หรือเครื่องซักผ้าในปริมาณมากน้อยเพียงใด รวมถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร จะตรวจสอบสถานีชาร์จอีวีผ่านแอปพลิเคชั่น และจ่ายเงินผ่านสมาร์ทอิเล็กทรินิกส์

ทั้งนี้ กฟผ.ได้ใช้เทคโนโลยีขับเคชื่อนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด อนาคตเมื่อราคาแบตเตอรี่มีราคาถูกลง จะสามารถนำมาใส่ และเพิ่มแผงโซลาร์ให้ใหญ่ขึ้น และเก็บในแบตเตอรี่เพื่อปล่อยไฟฟ้าได้ 24 ชม. ตอบโจทย์ทั้งคาร์บอนและฝุ่น