ย้อนเส้นทาง “JSL” 43 ปี จากรุ่งโรจน์ สู่ยุคขาดทุนอ่วม สู้มา 8 ปี สุดยื้อ!

ย้อนเส้นทาง “JSL” 43 ปี จากรุ่งโรจน์ สู่ยุคขาดทุนอ่วม สู้มา 8 ปี สุดยื้อ!

ข่าวช็อกวงการบันเทิง เมื่อ "JSL" สุดยื้อ สู้มา 8 ปี เจอมรสุม ทั้งดิจิทัลดิสรัปชั่น ลากยาวจนถึงวิกฤติโควิด-19 ล่าสุดเลิกจ้างพนักงานกะทันหัน และประกาศยุติกิจการบางส่วน

ข่าวช็อกวงการบันเทิงล่าสุด หลัง “JSL” หรือ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ประกาศเลิกจ้างพนักงานแบบกะทันหัน ที่แม้ก่อนหน้านี้จะเคยเลย์ออฟพนักงานไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อสถานการณ์โดยรวมไม่ดีขึ้น จึงถึงเวลาต้องแยกย้าย!

โดยล่าสุดวันที่ 30 มิ.ย.65 บริษัทฯ ได้ชี้แจงบนเฟซบุ๊ค JSL Global Media เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย ว่า จะทำการยุติการดำเนินงานบางส่วนของบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

บทความที่เกี่ยวข้อง : จับตา "JUVE9" รับช่วงต่อ "JSL" สานต่อรายการที่เหลือ? 

  • วิกฤติกระหน่ำ มรสุมดิจิทัล ซ้ำด้วยโควิด

ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ระบุไว้ว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่ออย่างมาก ทั้งการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์จำนวนมาก ทั้งผลกระทบจาก DIGITAL DISRUPTION และการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบอย่างมาก แม้ตลอดมาบริษัทฯ จะพยายามปรับตัวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถยืนหยัดในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงได้ต่อไป เพื่อที่จะได้สร้างผลงานที่ดีมีคุณภาพให้กับผู้ชมของเรา แต่ก็ยังไม่บรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายได้

บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จึงเห็นสมควรที่จะยุติการดำเนินงานบางส่วนลง นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

ย้อนเส้นทาง “JSL” 43 ปี จากรุ่งโรจน์ สู่ยุคขาดทุนอ่วม สู้มา 8 ปี สุดยื้อ!

  • จากยุครุ่งโรจน์ สู่วันขาดทุนอ่วม

บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท เจ เอส แอล จำกัด ) ก่อตั้งเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2522 ซึ่งกำลังจะเต็ม 43 ปีในไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ แต่กลับอาจไม่ได้อยู่จนถึงวันฉลองครบรอบดังกล่าว

สำหรับที่มาของชื่อ “เจ เอส แอล” นั้น มีที่มาจากการนำชื่อของผู้ก่อตั้ง 3 คนมาเป็นชื่อบริษัท คือ จำนรรค์ อัษฎามงคล (J) สมพล สังขะเวส (S) และ ลาวัลย์ ชูพินิจ (L)

จากการเริ่มต้นด้วยการผลิตรายการโทรทัศน์ จากนั้นบริษัทได้ขยายไปสู่การผลิตรายการละครโทรทัศน์ และซีรีส์ รวมถึงการผลิตงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งสั่งสมให้ “เจ เอส แอล” ก้าวสู่การเป็น 1 ใน 5 บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

จากช่วงพีคสุดๆ “JSL” เคยผลิตรายการของตัวเองสูงสุดร่วม 15 รายการในปี 2540 และมีรายการเรือธงที่เคยสร้างชื่อให้บริษัทอย่าง รายการพลิกล็อก, จันทร์กระพริบ, ยุทธการขยับเหงือก โดยเฉพาะรายการ “เจาะใจ” ที่ยังยืนยง ออนแอร์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงมีรายการเรือธงรุ่นใหม่อย่าง “เปอร์สเปกทิฟ” ที่ปัจจุบันออกอากาศทางช่อง 9 MCOT HD (ร่วมผลิตกับ บริษัท แบล็คดอท จำกัด)

นอกจากผลงานด้านรายการโทรทัศน์แล้ว JSL ยังขยายธุรกิจไปสู่การเป็นอีเวนต์ออแกไนเซอร์ ซึ่งมีผลงานสร้างชื่อ คือ พิธีเปิด-ปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 และ การแสดงแสงเสียงประกอบกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อต้อนรับผู้นำเอเปค ปี พ.ศ. 2546

  • ปรับตัวต่อเนื่อง ต้านมรสุมดิสรัป ไม่เป็นผล

ความยิ่งใหญ่ของ “เจเอสแอล” ในยุคหนึ่ง เชื่อว่า ใครๆ ก็ต้องรู้จักคุ้นหูอย่างดี เพราะถือเป็นอีกหนึ่ง “บริษัทบันเทิง” รายใหญ่ของเมืองไทยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวบนสังเวียนคอนเทนท์บันเทิง ตั้งแต่รุ่นจอแก้ว จนมาถึงยุคทีวีดาวเทียม และเปลี่ยนมาสู่แพลทฟอร์มออนไลน์ที่ถือว่า ปราบเซียนสุดๆ สำหรับผู้เล่นในอุตสาหกรรมสื่อ โดยเฉพาะรายเก่าที่จะต้องทรานส์ฟอร์มองค์กรให้อยู่รอดผ่านยุคสมัยที่เปลี่ยนไปให้ได้

โดยที่ผ่านมาได้เห็นความพยายามปรับแนวทางบริหาร เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2552 เปลี่ยนชื่อเป็น JSL Global Media ด้วยลักษณะของธุรกิจสื่อที่ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้การ ผลิตงานของบริษัทฯ มิได้จำกัดอยู่ที่โทรทัศน์แต่เพียง อย่างเดียวอีกต่อไป ดังนั้นเพื่อให้ลูกค้า ผู้ชม และพันธมิตรได้ทราบถึงวิสัยทัศน์ขององค์กรอย่าง ชัดเจน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด

หลังจากนั้นก็ได้ประกาศเปิดตัวทายาทรุ่นสองในปี พ.ศ.2558 ส่งไม้ต่อแก่เจเนอรชั่นใหม่ นำโดย แพร-รติวัลคุ์ ธนาธรรมโรจน์ ลูกสาวของ หน่อย-จำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

  • “My One Class” คอร์สออนไลน์ ที่ไม่ได้ไปต่อ!

จากมรสุมตลอด 8 ปีที่เชื่อว่า ไม่ใช่แค่ "เจ เอส แอล" เท่านั้น ที่ต้องเผชิญ เพราะบริษัทบันเทิง และอุตสาหกรรมสื่อรายอื่นๆ ต่างก็มีโจทย์ที่ต้องแก้ของตัวเองเช่นกัน 

แต่สำหรับ เจ เอส แอล ที่ผ่านมาเราได้เห็นความพยายามปรับตัวต่อเนื่องมาโดยตลอด อย่างเช่นในช่วงที่กระแสคอร์สออนไลน์กำลังบูม ก็ได้กระโดดลงสนามนี้ด้วยผ่านธุรกิจใหม่ "My One Class" โดยต่อยอดโอกาสทางธรุกิจ ดึงจุดแข็งด้านผู้ผลิตคอนเทนต์มาต่อยอดออกแบบเป็นคอร์สเรียนออนไลน์ ผนึกกำลังกับ 6 คนตัวจริงในวงการผ่านการเปิดหลักสูตร

อาทิ คอร์ส “แต่งเพลงแบบดี้นิติพงษ์” สอนโดย “ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค” นักแต่งเพลงชื่อดัง คอร์สที่สอง “พูดดี ต้องมีของ” สอนโดย “ตุ้ม-ผุสชา โทณะวณิก” คอร์สที่สาม “การแสดง” สอนโดย “ครูหนิง-พันพัสสา ธูปเทียน” ครูสอนการแสดง ผู้กำกับ และสมาชิกคนไทยเพียงคนเดียวของ “The Actors Studio” สถาบันระดับโลกที่นิวยอร์ก คอร์สที่สี่ “เขียนบท” สอนโดย “ครูบัว-ปริดา มโนมัยพิบูลย์” ครูสอนการเขียนบท ซึ่งได้รับรางวัลคึกฤทธิ์ สาขาวรรณศิลป์ คอร์สที่ห้า “ถ่ายภาพด้วย Smart Phone” สอนโดย “แพท ชาน – พัชรินทร์ ไพศาลเสถียรวงศ์” และคอร์สสุดท้าย “Shot film workshop with Nonzee สอนทำหนังสั้นด้วยสมาร์ทโฟน”โดย “อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” ซึ่งราคาต่อคอร์สเริ่มต้นที่ 2,900-4,900 บาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปดูในเฟซบุ๊คของหลักสูตรดังกล่าว พบว่า  มีการโพสต์เกี่ยวกับหลักสูตรล่าสุดถึงแค่เดือนกรกฎาคม 2564 หลังจากนั้นไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับหลักสูตรเพิ่มเติมอีก

  • ส่องรายได้ พบขาดทุนหนักต่อเนื่อง!

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ผลประกอบการของ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด 5 ปีย้อนหลัง พบว่า ขาดทุนต่อเนื่อง ขณะที่รายได้รวมก็ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน ดังนี้

รายได้รวม

  • ปี 2560 มีรายได้รวม 439,709,825.00 เปลี่ยนแปลง -22.39%
  • ปี 2561 มีรายได้รวม 440,825,325.00 เปลี่ยนแปลง +0.25%
  • ปี 2562 มีรายได้รวม 444,451,857.00 เปลี่ยนแปลง +0.82%
  • ปี 2563 มีรายได้รวม 354,716,412.74 เปลี่ยนแปลง -20.19%
  • ปี 2564 มีรายได้รวม 198,226,244.76 เปลี่ยนแปลง -44.11%

กำไร(ขาดทุน) สุทธิ

  • ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 38.93 ล้านบาท
  • ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 33.36 ล้านบาท
  • ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 24.84 ล้านบาท
  • ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 22.34 ล้านบาท
  • ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 57.14 ล้านบาท

ย้อนเส้นทาง “JSL” 43 ปี จากรุ่งโรจน์ สู่ยุคขาดทุนอ่วม สู้มา 8 ปี สุดยื้อ!

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของละคร "เกมรักทรยศ" (The Betrayal) ผลงานรีเมคจากซีรีส์ชื่อดังของประเทศอังกฤษ Doctor Foster ที่เวอร์ชันไทย ได้ “แอน ทองประสม” และ “อนันดา เอเวอริงแฮม” มารับบทแสดงนำ และเพิ่งจะเผยภาพโปสเตอร์โปรโมทไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.65 หลายคนมีการตั้งคำถามว่า แล้วจะยังทำต่อไปหรือไม่นั้น

จากการตรวจสอบพบว่า เป็นละครที่ผลิตโดย บริษัท จูเวไนล์ จำกัด (เดิม คือ บริษัท สตูดิโอ แอคทิฟ จำกัด) ซึ่งมีรายชื่อ รติวัลคุ์ ธนาธรรมโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจ เอส แอล เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัทฯ ร่วมกับ กฤษฏิ์ ชูพินิจ บุตรชายของ ต้น-ลาวัลย์ ชูพินิจ