ธนาคารโลกคาดจีดีพีไทยปี 65 เติบโต 2.9%

ธนาคารโลก ประเมินจีดีพีปีนี้โต 2.9% ปี 66 โต 4.3% อานิสงส์การบริโภคภาคเอกชน-การท่องเที่ยวฟื้นตัว พร้อมหนุนรัฐใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหวังช่วยประเทศไทยฟื้นตัวท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก หรือ เวิล์ดแบงก์ ดร. เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา ระบุ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัว 2.9% ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนธันวาคม 2564 ว่าจะขยายตัวได้ 3.9% แต่การฟื้นตัวจะแข็งแกร่งขึ้นในระยะปานกลาง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบภายนอกด้านลบจากสงครามในยูเครนและมาตรการปิดเมืองของจีนแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีลักษณะเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน และมีความเปราะบางต่อภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าจะได้รับแรงกระตุ้น และกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงและการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคนในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน หรือประมาณ 60% ของระดับก่อนการระบาดภายในปี 2567 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.3% ในปี 2566 และขยายตัวได้ 3.9% ในปี 2567

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระยะของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการปรับสมดุลรายจ่ายเพื่อเพิ่มการลงทุนภาครัฐ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการสร้างการเติบโต

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่  5.2% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 14 ปี การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 4.1% ชะลอตัวลงจากผลของปี 2564 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 18.8% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์โลกที่ลดลงและปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยืดเยื้อ หนี้สาธารณะคาดว่าจะพุ่งสู่จุดสูงสุดที่ 62.5% ต่อจีดีพีในปีงบประมาณ  2566 ซึ่งสูงกว่าระดับปัจจุบันเล็กน้อย

ทั้งนี้ สงครามในยูเครนอาจทำให้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น เป็นผลจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น ธนาคารโลกประมาณการว่า ราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้น 10% จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 1.4% และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 10% จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 0.2% 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงด้านลบแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างกันชนทางการคลัง การติดตามตรวจสอบจุดอ่อน ในภาคการเงิน และการสำรวจแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการสร้างผลผลิต ทางเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวคิดเกี่ยวกับแนวทางการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ

การเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถเพิ่มผลผลิตและการจ้างงาน โดยจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 1.2% และช่วยให้เกิดการจ้างงานประมาณ 160,000 ตำแหน่งภายในปี 2573 นอกจากนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจะลดลงประมาณ 5% ภายในปี 2573 และการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจะลดลงซึ่งจะช่วยป้องกันประเทศไทยจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงและมีความผันผวน