ตอบโจทย์วิกฤติขาดแคลนอาหาร หนุนเกษตรใช้เคมีคู่อินทรีย์ ดันไทยสู่ครัวโลก

ตอบโจทย์วิกฤติขาดแคลนอาหาร หนุนเกษตรใช้เคมีคู่อินทรีย์ ดันไทยสู่ครัวโลก

กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี ส.อ.ท. จัดงานเสวานา “เคมี พระเอกหรือผู้ร้าย” ถกนักวิชาการ เอกชน ภาครัฐ และพรรคการเมือง ชี้ทางรอดภาคเกษตรกรรมไทย ต้องใช้สารเคมีเกษตรอย่างปลอดภัยควบคู่กับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เน้นผลผลิตผ่านมาตรฐาน GAP คว้าโอกาสภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานเสวนา “เคมี พระเอกหรือผู้ร้าย ครั้งที่ 3” เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 ในหัวข้อ “อินทรีย์ - เคมีโอกาสของไทย ภายใต้วิกฤตอาหารโลก” ว่า หลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ซึ่งปัญหาดังกล่าวยิ่งชัดเจนขึ้นภายหลังการเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งคาดว่าอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง เนื่องจากวัตถุดิบหรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหารมีปริมาณลดลง ซึ่งขณะนี้มีกว่า 30 ประเทศที่ออกมาประกาศงดการส่งออกวัตถุดิบ ซึ่งเชื่อว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นจะยืดเยื้อและส่งผลต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออกของไทยขยายตัวมากขึ้นเนื่องจากมีความต้องการจากทั่วโลกสูงมากแม้ว่าราคาอาหารจะอยู่ในระดับสูง จากราคาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น อาทิ ราคาข้าวสาลี ปุ๋ย และค่าขนส่ง จึงเป็นโอกาสที่ไทยต้องเร่งวางแผนการผลิตเพื่อการบริโภคและส่งออกเพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนด้านซัพพลาย โดยการหาแหล่งทรัพยากรใหม่ การเซ็นสัญญาระยะยาวเพื่อซื้อวัตถุดิบ รวมถึงมีการปรับสูตรมาใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุน 

นอกจากนี้ การบริหารจัดการระหว่างการทำเกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์มีความจำเป็นเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยแบ่งเป็น การใช้เคมีอย่างมีความรู้ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อการผลิตเกษตรอุตสาหกรรม ในขณะที่การทำเกษตรอินทรีย์สำหรับตลาดเฉพาะ หรือพรีเมียมเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้ในการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมในปริมาณมากได้เนื่องจากผลผลิตไม่เสถียร 

โดย ส.อ.ท. มีแนวทางขับเคลื่อนการส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีผ่านโครงการ Smart Agriculture Industry (SAI) ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพปลอดภัย ได้มาตรฐาน และตรงตามความต้องการของตลาดโดยการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับอุตสาหกรรม เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมในกลุ่มพืชเศรษฐกิจใหม่

นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การดำเนินการด้านนโยบายที่จะส่งเสริมศักยภาพการเกษตรให้สามารถปฏิบัติได้จริง ด้วยความจริงที่ว่า ไม่มีสารเคมีใดไม่เป็นอันตราย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการรู้จักใช้สารเคมีอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นแนวคิดการบริหารจัดการเคมี จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เคมีเพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต

นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่าปุ๋ยเคมีไม่ใช่สารพิษ แต่เป็นธาตุอาหารสำคัญของพืช ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้ภาคการเกษตรไทยจากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศมากกว่า 95% ทำให้ไม่สามารถควบคุมราคาได้ เกษตรกรจึงต้องปรับตัวด้วยการเลือกใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการเลิกเผาตอซังในข้าวแล้วใช้วิธีไถกลบจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย และเป็นการเพิ่มอินทรีย์ให้กับดินได้เช่นกัน

นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทเรียนจากประเทศศรีลังกาที่มีการประกาศเลิกใช้สารเคมีเกษตรเมื่อ เดือนเม.ย. 2564 ทำให้ในระยะเวลาเพียง 6 เกิดปัญหาหลายอย่าง อาทิ ผลผลิตด้านการเกษตรลดลง มูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายกว่า 774 ล้านเหรียญจากข้าวและใบชา ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 5 เท่า ในที่สุด เดือน พ.ย. 2564 จึงมีการพิจารณาอีกครั้ง แต่ยังมีนโยบายห้ามใช้สารเคมีเกษตรอื่นๆ จึงเป็นความท้าทายใหญ่ของศรีลังกาว่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตด้านอาหารได้หรือไม่

ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยจัดให้มีการประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนและความคุ้มค่าของการใช้สารเคมีเกษตร เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจด้านนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังประเทศชั้นนำด้านการเกษตรของโลก อาทิบราซิล ญี่ปุ่น เม็กซิโก จีน และสหรัฐอเมริกา

นายสุรวุฒิ ศรีนาม กรรมการบริหาร บริษัท เรียลฟาร์ม จํากัด กล่าวว่า ในฐานะเกษตรกรผู้ปลูกผักแบบ GAP (เกษตรปลอดภัย) แม้ว่าเกษตรอินทรีย์จะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่ตลาดดังกล่าวมีไม่มากนัก รวมทั้งความท้าทายสำคัญของเกษตรอินทรีย์ คือ การควบคุณภาพปริมาณการผลิตต่ำ และผลผลิตไม่มีความต่อเนื่องส่งให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ จึงทำให้เกษตรกรหลายรายต้องล้มเลิกการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ไป หันมาผลิตเกษตรแบบ GAP ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเพราะผู้ซื้อสนใจในเรื่องราคาที่สามารถแข่งขันได้ และสินค้าได้ตามมาตรฐานการส่งออกและนำเข้าในต่างประเทศ

ตอบโจทย์วิกฤติขาดแคลนอาหาร หนุนเกษตรใช้เคมีคู่อินทรีย์ ดันไทยสู่ครัวโลก