5 หุ้นปั๊มน้ำมันยังไหว หลังตรึงค่าการตลาดคงที่

5 หุ้นปั๊มน้ำมันยังไหว  หลังตรึงค่าการตลาดคงที่

สถานการณ์น้ำมัน – ก๊าซ พุ่งเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเกิดจากซัพพลายขาดแคลนไม่ได้เกิดจากวิกฤติเหมือนที่ผ่านมาในอดีต จึงทำให้คาดเดาได้ยากว่าสถานการณ์จะยุติหรือดีขึ้นได้เมื่อไร ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่ทั่วโลกจะอยู่กับภาวะราคาเชื้อเพลิงสูง และตามมาด้วยเงินเฟ้อพุ่ง

       ดังนั้นแต่ละประเทศจึงต้องหามาตรการมารองรับ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนานเกินไป    ซึ่งไทยมีโครงสร้างราคาน้ำมันที่แฝงเป็นต้นทุนสินค้าจากการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่จึงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และซ้ำเติมด้วยค่าเงินบาทอ่อนค่าทำให้จ่ายในราคาแพงเพิ่มขึ้น

      8 มาตรการล่าสุดที่ภาครัฐประกาศช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน  ตามมติ ครม.เห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพประกอบด้วย มาตรการใหม่ และขยายมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.นี้ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ก.ค.-ก.ย.

      มาตรการใหม่ที่ออกมาถือว่ามีผลโดยตรงต่อธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่ของไทย  ซึ่งประกอบไปด้วย มาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงกลั่นนำส่งกำไรส่วนต่างการกลั่นสำหรับ ดีเซล เพื่อดึงเงินเข้ากองทุนเชื้อเพลิง 

            เพียงแค่มาตรการนี้ที่ประกาศออกมามีผลสะเทือนไปถึงราคาหุ้นในกลุ่มเพราะมีการมองในมุมมองเชิงลบ ว่าเป็นการแทรกแซงที่ไม่ควรเกิดขึ้นในตลาดเสรี  จึงทำให้เสียงตอบรับจากผู้ประกอบการรายใหญ่ กลุ่ม ปตท. ออกมาตอบรับพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ หากแต่ภายใต้ในอัตราที่เหมาะสม   มีความชัดเจน เพราะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีนักลงทุน และผู้ถือหุ้นเกี่ยวข้องจำนวนมาก  ท่ามกลางความกังวลจากนักลงทุนต่างชาติในเรื่องดังกล่าว   

        อีกมาตรการที่เพิ่มเข้ามาคือ การ ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดอยู่ที่ 1.4 บาทต่อลิตร หรือเรียกง่ายว่า ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันคงค่าการตลาด  ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อธุรกิจเหมือนกับมาตรการแรกที่ดึงกำไรออกไป

       ขณะเดียวกันภาวะการใช้ชีวิตประจำวันที่กลับมาเป็นปกติคือ รถเยอะ กลับรถติด จึงทำให้การใช้บริการปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้นตามไปด้วย    รวมไปถึงการปรับธุรกิจไปแสวงหากำไรจากธุรกิจ non oil ทำให้สถานการณ์ธุรกิจปั๊มน้ำมันยังได้รับผลกระทบไม่มากจากมาตรการของภาครัฐ

 

 

 

ช่วงที่ผ่านมาค่าการตลาดโดยเฉลี่ยมีการฟื้นตัวจากช่วงโควิด-19 ชัดเจน จากปี 2556-2564  กลุ่มน้ำมันทุกประเภทอยู่ที่ 2.30 และ 2.14  ต่อลิตร ตามลำดับ และตั้งแต่ต้นปี 2565 ราคาการตลาดมีทิศทางขึ้นต่อเนื่องล่าสุดช่วงครึ่งเดือนแรกมิ.ย. เฉลี่ยที่ 1.50 บาทต่อลิตร

       จากการตรวจสอบ 5 ปั๊มน้ำมันที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีทั้งหมด 5 บริษัท ซึ่งรายใหญ่สุด คือ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR  มีจำนวนทั้ง  2,080  สถานีมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 2 ล้านคน จากส่วนแบ่งการตลาด 43.9%

        โดยมีการจำหน่ายน้ำมันสำหรับยานยนต์  เครื่องบิน  ซึ่งในช่วง 3 เดือนปี 2565  ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น 9.3% จากปีก่อน น้ำมันอากาศยาน ที่เพิ่มขึ้น 55.6% กลุ่ม ดีเซลเพิ่มขึ้น 13.4% LPG เพิ่มขึ้น 6.6% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 18.4% และภาพรวมการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเนื่องจากกิจกรรม ทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น

        รายใหญ่อีกราย บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG มี 2,094 สถานี กลุ่มน้ำมันจำหน่ายน้ำมันสำหรับยานยนต์  และก๊าซ LPG  ส่วนการรับมือการการตรึงค่าการตลาดดีเซลไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร  ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระดับเหมาะสมที่ 1.80-2.00 บาท/ลิตร เตรียมที่จะเพิ่มรายได้ด้านอื่น โดยเฉพาะ LPG และกลุ่มธุรกิจnon oil ทั้งร้านกาแฟพันธุ์ไทย และร้านค้าแม็กซ์มาร์ท

        นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการ บมจ.ซัสโก้ หรือ SUSCO ซึ่งถือว่าเป็นรายเล็กมีอยู่ 32 สถานีแต่หลังเข้าซื้อกิจการ petronas ในไทย  ดำเนินการจำหน่านน้ำมันเพื่อยานยนต์  LPG  และ NGV  โดยเป็นการบริหารเจ้าของปั๊มน้ำมันด้วยตัวเอง

         รวมทั้งผู้ประกอบการที่อยู่มานาน  100 ปี บมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO  แต่มีการลดขนาดสาขาในไทยมาอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันมีจำนวน  731 สถานี และเพิ่มธุรกิจ non oil ร้านกาแฟคอฟฟี่ เจอนี่ (Coffee Journey)  แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตามเพราะเป็นบริษัทที่มีธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันศรีราชา ด้วยเป็นผู้ประกอบการต่างชาติทำให้มองว่าผลกระทบไม่มากเท่ากลุ่ม ปตท. ที่รัฐถือหุ้นใหญ่

      เช่นเดียวกับ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP ที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 16.23 %  มีธุรกิจโรงกลั่นเช่นเดียวกับ ESSO และเป็น 1 ใน 6 โรงกลั่นที่รัฐของความร่วมมือนำส่งส่วนต่างกำไรเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์