Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 20 June 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 20 June 2022

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง หลังความต้องการใช้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจีนยังคงกดดันตลาด

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 113-123 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 115-125 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 20 June 2022

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (20 – 24 มิ.ย.65) 

ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง หลังประธานาธิบดี โจ ไบเดน เรียกร้องให้โรงกลั่นในสหรัฐฯ เร่งปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว เนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในแหล่ง Sakhalin 1 ประสบปัญหาด้านการส่งออก หลังยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรการประกันภัยทางเรือของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนยังคงกดดันตลาด หลังจีนพบการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในเมืองใหญ่ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ส่งผลให้จีนต้องใช้มาตรการเข้มงวดและประกาศล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ หรือ EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันแตะระดับที่ 12.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

 

 


 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  ปริมาณน้ำมันดิบที่ใช้ในการผลิต (crude runs) ของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับลดลง 67,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงวันที่ 6-10 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา ทำให้ปธน. โจ ไบเดนเรียกร้องให้โรงกลั่นในสหรัฐฯ เร่งปรับเพิ่มกำลังการผลิต โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินและดีเซล ที่ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงฤดูร้อน ขณะที่ EIA รายงานปริมาณสต๊อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มิ.ย. 65 ปรับลดลงที่ 0.7 ล้านบาร์เรล แตะระดับที่ 217.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 11 สะท้อนถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

-  การผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Sakhalin-1 ของรัสเซีย ซึ่งปกติผลิตน้ำมันดิบ Sokol เพื่อส่งออกจากท่าเรือทางตะวันออกของรัสเซียไปยังประเทศหลักๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชีย คาดว่าจะยังคงประสบปัญหาเรื่องการส่งออกต่อเนื่องไปอีก 2-3 เดือน หลังยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรการประกันภัยทางเรือของรัสเซีย ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่งดังกล่าวของรัสเซียที่ปรับลดลง ส่งผลให้ตลาดกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว 

- สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนยังคงกดดันตลาด หลังจีนพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในเมืองเซี่ยงไฮ้ ทำให้จีนต้องใช้มาตรการเข้มงวดและประกาศล๊อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง ประกอบกับเร่งตรวจหาเชื้อประชากรกว่า 25 ล้านคน ขณะที่เมืองปักกิ่ง ได้ยกระดับการคุมเข้มด้านโควิด-19 เช่นกัน หลังจากพบการแพร่ระบาดระลอกใหม่ย่านสถานที่ให้บริการผับและบาร์แห่งหนึ่ง สถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดกังวลความต้องการใช้น้ำมันโลกปรับลดลง 
 

EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สู่ระดับที่ 12.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 63 ด้าน EIA (เดือน พ.ค. 65) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2565 และ 12.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2566 ซึ่งเกินกว่าปริมาณการผลิตในปี 2562 ที่ระดับ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

-  การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 15 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% สู่ระดับที่ 1.5-1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า FED อาจมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50-0.75% ในการประชุมครั้งถัดไป และ FED จะปรับลดขนาดงบดุลถึง 2 เท่าเป็นจำนวนเงิน 9.5 หมื่นล้านเหรียญต่อเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 65 เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน FED คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2565 มีแนวโน้มปรับลดลงที่ระดับ 1.7% จากเดิมที่ระดับ 2.8% การใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินของสหรัฐฯ ครั้งนี้ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับที่ 5.2% จากก่อนหน้าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.3% และรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก

-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) เดือนมิ.ย. 65 ของยุโรป ตลาดคาดการณ์ว่าจะแตะระดับที่ 54.9 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.6 และ ดัชนี PMI เดือนมิ.ย. 65 ของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดว่าจะแตะระดับที่ 57.5 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 57.0

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 - 17 มิ.ย. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 11.37 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 109.56 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 9.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 113.12 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 116.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  หลัง EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับที่ 418.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะที่ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว หลังยุโรปมีข้อสรุปยุติการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่การปรับเพิ่มการผลิตจากกลุ่มโอเปคพลัสเพื่อชดเชยน้ำมันที่หายไปจากส่วนของรัสเซียยังมีความไม่แน่นอนสูง