“กบง.” เคาะ “กฟผ.” กู้ 8.5 หมื่นล้าน หลังช่วยคนไทยแบกภาระค่าเอฟทีอ่วม

“กบง.” เคาะ “กฟผ.” กู้ 8.5 หมื่นล้าน หลังช่วยคนไทยแบกภาระค่าเอฟทีอ่วม

“กบง.” ไฟเขียวก.คลังค้ำ”กฟผ.” กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 8.5 หมื่นล้านบาท หลังแบกค่าเอฟที ด้าน “กกพ.” รับค่าไฟงวดก.ย.-ธ.ค.จ่อขึ้นทะลุ 40 สต./หน่วย

แหล่งข่าวจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อเร็วๆ นี้ได้เห็นชอบแนวทางการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 (1ต.ค.2565-30ก.ย.2566) ของ กฟผ.ในกรอบวงเงินประมาณ 85,000 ล้านบาท

โดยขอให้ กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่กฟผ. ทั้งนี้ เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องจากการที่กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจได้ดำเนินตามนโยบายรัฐบาลในการช่วยรับภาระค่า Ft เพื่อลดผลประทบค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนตั้งแต่งวดก.ย.-ธ.ค. 2564 จนถึงงวดปัจจุบัน(พ.ค.-ส.ค.2565 )รวมเป็นเงิน 87,000 ล้านบาท

“ก่อนหน้านี้ครม.ได้อนุมัติให้กฟผ.กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในปี 2565 – 2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ด้วยวิธีการจัดหาเงินกู้ในรูปแบบ Term Loan อายุไม่เกิน 3 ปี โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันไปแล้ว แต่ยังคงไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับภาระที่แบกรับค่าไฟฟ้าแทนประชาชนไว้ จึงต้องขยายกรอบวงเงินกู้ซึ่งได้ประเมินไว้ว่ากฟผ.จะขาดกระแสเงินสดอย่างหนักในช่วงต้นปี 2566 จำเป็นต้องกู้มาเสริมสภาพคล่องโดยกรอบที่วางไว้อาจจะกู้ไม่ถึงก็ได้โดยอยู่ที่แนวโน้ม Ft ในระยะต่อไปว่ากฟผ.จะต้องแบกรับภาระมากน้อยเพียงใดเป็นสำคัญ

แหล่งข่าว กล่าวว่า กฟผ. ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงานไปก่อนหน้านี้ถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องหลังจากช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าต่อผู้ใช้ไฟฟ้าจากการปรับค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นโดยยอมรับว่าหากการพิจารณา Ft งวดถัดไปก.ย.-ธ.ค. 2565 ต้องให้กฟผ.แบกรับภาระอีกจึงเป็นไปได้ยากเพราะจะทำให้ภาระกฟผ.แบกรับภาระเป็นระดับแสนล้านบาท กฟผ.อาจไม่สามารถลงทุนโครงการต่างๆ ได้ตามแผนงานซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในระยะยาวได้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวยอมรับว่า ค่า Ft ในงวดถัดไป(ก.ย.-ธ.ค.65) บนสมมติฐานเดิมจะต้องปรับขึ้นราว 40 สตางค์ต่อหน่วยทำให้ค่าไฟที่ประชาชนจะต้องจ่ายรวม (ค่าไฟฟ้าฐาน) จะเป็น 4.40 บาทต่อหน่วยแต่ยอมรับว่าปัจจัยต่างๆ ที่เป็นต้นทุนจริงปรับขึ้นจากสมมติฐานเดิมทั้งค่าเงินบาทอ่อน ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)สูงกว่าที่คาดการณ์ฯลฯ ทำให้ Ft งวดต่อไปอาจขึ้นมากกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วยแต่ค่าไฟรวมจะยังไม่ถึง 5 บาทต่อหน่วย