“อีอีซี” สร้างเน็ตเวิร์คการแพทย์ วิจัยยีนบำบัดรักษา “ธาลัสซีเมีย”

“อีอีซี” สร้างเน็ตเวิร์คการแพทย์  วิจัยยีนบำบัดรักษา “ธาลัสซีเมีย”

สกพอ. เดินหน้าการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ สร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการรักษาโรคธาลัสซีเมียและมะเร็ง

คนไทยมีโอกาสพบยีนธาลัสซีเมียแฝง 30-40% ของจำนวนประชากร หรือ 18-24 ล้านคน รวมถึงพบมากในคนเอเชีย อาทิ จีน เมียนมา กัมพูชา แต่ธาลัสซีเมียรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูกและยีนบำบัด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินสูงและต้องมีผู้บริจาคไขกระดูกที่เข้ากับผู้ป่วยได้

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2565 ที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดย สกพอ.มีแผนขับเคลื่อนเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูง ยกระดับบริการด้ายรักษายีนบำบัดสำหรับโรคธาลัสซีเมีย 

สกพอ.จะทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในไทยกับนักลงทุนที่สนใจจากต่างประเทศ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยธาลัสซีเมีย รวมทั้งรัฐบาลที่มีส่วนอุดหนุนค่ารักษาต้องรับภาระค่าใช้จ่ายและสูญเสียงบประมาณไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นภาระหนักทั้งทางการแพทย์ สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจุบัน BGI Research บริษัทเอกชนจีนที่เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย ผู้ให้บริการศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลับบูรพา (บางแสน) เพื่อตรวจสอบและถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลสร้างบิ๊กดาต้าห้องสมุดดีเอ็นเอ แสดงความสนใจที่จะมาดำเนินการวิจัยทางคลินิกสำหรับผลิตภัณฑ์ยีนบำบัดเพื่อรักษาโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย ซึ่ง สกพอ. จะได้ช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านสาธารณสุข สกพอ. กล่าวว่า ธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดที่เม็ดเลือดแดงซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากยีนด้อย ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางเนื่องจากร่างกายมีความผิดปกติในการผลิตเม็ดเลือด สำหรับคนที่ปรากฏอาการชัดเจนจะมีร่างกายที่ไม่แข็งแรง จำเป็นต้องให้เลือดและทานยาตลอดชีวิตทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บุคคลากรทางการแพทย์ของไทยพร้อมร่วมวิจัยและเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยมี สกพอ.เป็นผู้อำนวยความสะดวกความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาและผลิตยีนบำบัดในไทย และจะเตรียมพื้นที่สำหรับบริษัทที่ประสงค์จะลงทุนก่อสร้างศูนย์ผลิต เพื่อให้การใช้เทคโนโลยี ยีนบำบัดโรคธาลัสซีเมียมีต้นทุนที่เหมาะสม และประชาชนไทยเข้าถึงได้ “อีอีซี” สร้างเน็ตเวิร์คการแพทย์  วิจัยยีนบำบัดรักษา “ธาลัสซีเมีย”