ส.อ.ท.-กนอ.หนุนธุรกิจรีไซเคิล สร้างอีโคซิสเท็ม“กรีนซัพพลายเชน”

ส.อ.ท.-กนอ.หนุนธุรกิจรีไซเคิล สร้างอีโคซิสเท็ม“กรีนซัพพลายเชน”

ส.อ.ท. จับมือ กนอ. ตั้งเป้าดัน 80% โรงงานจัดการของเสียประเภทโรงงานกำจัด คัดแยก และรีไซเคิลทั่วประเทศ ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory ในปี 2568 มุ่งสร้าง green supply chain พร้อมเดินหน้าสอดคล้องนโยบายบีซีจี การใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด พร้อมแก้ปัญหาลักลอบทิ้งของเสีย

หลายปีที่ผ่านมาการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมมีภาพลักษณ์ด้านลบและสร้างความกังวลให้กับชุมชนและสังคมโดยรอบ รวมทั้งถูกมองว่าเป็นต้นเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อม กดดันให้ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมต้องหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดทั้งซัพพลายเชนและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ขยายความร่วมมือรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2565 เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกรวมทั้งโรงงานในความดูแลของ กนอ.ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว 100% ภายในปี 2568

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ First2Next-Gen Industry ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่อนาคต โดย ส.อ.ท.จะเข้าไปช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในการยกระดับอุตสาหกรรมในมิติต่างๆ โดยในมิติสิ่งแวดล้อมได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ Eco Product , Eco Factory และ Eco Town

มาตรฐาน Eco Factory จะเป็นกลไกสำคัญในการประเมินสมรรถนะของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมองค์กรตลอดซัพพลายเชนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และก่อให้เกิดผลผลิตสีเขียวมากที่สุดสอดคล้องกับโมเดลบีซีจี รวมทั้งทำให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นที่ยอมรับของชุมชนแวดล้อม ยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วยหลักความร่วมมือเกื้อกูล และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง กนอ.และ ส.อ.ท.ในการพัฒนามาตรฐาน Eco Factory For Waste Processor ในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือที่สำคัญ ในการยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

กนอ.จะดำเนินการส่งเสริมให้ โรงงานจัดการของเสียประเภทโรงงานกำจัด คัดแยก และรีไซเคิลของเสีย ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 74 แห่ง ได้รับรองมาตรฐานนี้ครบ 100% ภายในปี 2568 รวมทั้งส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมผู้ก่อกำเนิดของเสียที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมให้เลือกใช้บริการบำบัดและกำจัดของเสียจากผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรองมาตรฐาน และที่สำคัญคือการผลักดันสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับ โรงงานจัดการของเสียที่ได้รับรองมาตรฐานนี้

สมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ทำงานร่วมกับ กนอ.เพื่อผลักดันมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ(Eco Factory) สำหรับอุตสาหกรรมทั่วไป โดยตั้งแต่ปี 2560 มีโรงงานที่ได้รับการรับรองแล้ว368 ราย และจะต้องต่ออายุมาตรฐานดังกล่าวทุก 3 ปี 

ในขณะที่มาตรฐาน Eco Factory ในกลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสียได้มีการประกาศข้อกำหนดมาตรฐานเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2565 โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2568 ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. ต้องได้รับการรับรอง 100% รวมถึงผู้ประกอบการของเสียที่ประกอบกิจการอยูในปัจจุบันจะต้องได้รับการรับรองมากกว่า 80% ภายในปี 2568

นอกจากนี้ ปัจจุบันนี้ ส.อ.ท.มีมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ 2 กลุ่ม คือ Eco Factory สำหรับรับรองผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วไป และ Eco Factory For Waste Processor สำหรับรับรองผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจัดการของเสีย ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่รับรีไซเคิล บำบัด และกำจัดกากอุตสาหกรรม ที่ได้รับรองตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor มีการดำเนินธุรกิจที่ได้มาตรฐานหลักวิชาการถูกกฎหมาย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

ส.อ.ท.-กนอ.หนุนธุรกิจรีไซเคิล สร้างอีโคซิสเท็ม“กรีนซัพพลายเชน” ธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีโรงงานรีไซเคิล บำบัด หรือกำจัดกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และในขณะเดียวกับข่าวการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นซึ่งประกอบด้วยหลายปัจจัย โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้มาตรฐาน และต้องการลดต้นทุนการดำเนินการ ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

ดังนั้น โรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสียควรได้การรับรองตราสัญลักษณ์เพื่อการสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจในการเป็นคู่ค้ากับโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียเพื่อร่วมสร้าง Green Supply Chain และโอกาสในการเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐ 

นอกจากนี้ การได้รับการรับรองมาตรฐานยังส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดการใช้ทรัพยากร ลดการเกิดของเสีย ทั้งยังสามารถแลกเป็นคาร์บอนเครดิตได้จากโครงการT-VER ซึ่งเครดิตดังกล่าวจะมีแนวโน้มมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต

สำหรับสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่แสดงเจตนารมณ์เพื่อขอรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor รวม 16 ราย ประกอบด้วย บริษัท ทีพีไอ โพลีนจำกัด (มหาชน) , บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) , บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด , บริษัท สยามเอ็นไวรอนเมนทอลเทคโนโลยี่ จำกัด

บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด , บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด , บริษัท ทีเออาร์เอฟจำกัด , บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไพโร เอนเนอร์ยี่ จำกัด , บริษัท ไฟเบอร์ พัฒน์ จำกัด

บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ส.กนกการจัดการสิ่งเเวดล้อม จำกัด , บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด , บริษัทซิมสุลาลัย จำกัด