มิลล์คอน สตีล เดินกลยุทธ์ “กรีน สตีล” ฟันกำไรไตรมาสแรก 111 ล้านบาท

มิลล์คอน สตีล เดินกลยุทธ์ “กรีน สตีล” ฟันกำไรไตรมาสแรก 111 ล้านบาท

มิลล์คอน เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 กำไรสุทธิ 111 ล้านบาท ชี้ 3 เดือนแรกภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ส่งผลราคาเหล็กผันผวนมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ส่วนปริมาณบริโภคเหล็กสำเร็จรูปในประเทศอยู่ที่ 4 ล้านตัน

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทมิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 ของกลุ่มมิลล์คอนฯ มีกำไรเติบโตต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิ 111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และ EBITDA อยู่ที่ 293 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่บริษัทมีรายได้รวมในไตรมาส 1 อยู่ที่ 5,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 5,108 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากปริมาณการขายเหล็กเส้นและเหล็กแท่งทรงยาวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น บริษัทจึงมีโอกาสในการทำกำไรจากการขายเหล็กแท่งทรงยาวซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเหล็กเส้นของกลุ่มมิลล์คอนฯ 

ในส่วนของต้นทุนขายและบริการอยู่ที่ 4,879 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ภาพรวมการดำเนินงานของกลุ่มมิลล์คอนฯ มีการเติบโตทั้งส่วนของธุรกิจหลักและบริษัทร่วมทุนเริ่มสามารถรับรู้กำไรได้แล้ว โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมอยู่ที่ 69 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนการเงินที่ลดลง 5% ส่วนของผู้ถือหุ้นปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6,448 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการเติบโตอย่างแข็งแกร่งนอกเหนือจากอานิสงส์ราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น และยังเป็นผลมาจากการบริหารจัดการภายในองค์กรโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มตามแผนยุทธศาสตร์หลักให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทไปสู่เป้าหมายใหญ่คือการเป็น Green Steel  

เนื่องจากมิลล์คอนฯ เป็นผู้ผลิตเหล็กทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการรีไซเคิลอย่างครบวงจร ตลอดจนการกำจัดของเสียอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยของเสียจากขั้นตอนการบดย่อยเศษเหล็กจะถูกนำมาคัดแยกไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า มีการใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งตระกันจากการหลอมเหล็กสามารถนำมาผสมคอนกรีตในการทำถนนตามหลัก Zero Waste

“กระบวนการดำเนินธุรกิจแบบ Circular Economy คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ MILL เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง บริษัทใช้พลังงานที่ผลิตได้เองภายในกลุ่ม สามารถนำของเสียมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้  ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2565 อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้เกิดความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น  ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง  ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหลังจากที่สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

จากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 ประเทศไทยมีปริมาณการบริโภคเหล็กสำเร็จรูปรวมทั้งสิ้น 4.04 ล้านตัน ลดลง17.8 %จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นการบริโภคเหล็กทรงยาวอยู่ที่ 1.57 ล้านตัน ลดลง 19.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และการบริโภคเหล็กทรงแบนอยู่ที่ 2.47 ล้านตัน ลดลง 16.6 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า