“EA” ระบุ "ภาษีคาร์บอน" ตัวบังคับต่อยอดสร้างอีโคซิสเต็มอีวีในไทย

“EA” ระบุ "ภาษีคาร์บอน" ตัวบังคับต่อยอดสร้างอีโคซิสเต็มอีวีในไทย

“EA” ย้ำ ภาษีคาร์บอนจะเป็นตัวบังคับต่อยอดให้เกิด อีโคซิสเต็มอีวี หวังผู้ประกอบการไทยรวมพลังก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงจากผู้นำเข้าเป็นผู้ผลิตดันไทยสู่ฐานการผลิตอีวี

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวในงานเสวนา “EV Forum 2022 Move Forward to New Opportunity” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” และ “ฐานเศรษฐกิจ” ในหัวข้อ “แผนธุรกิจรุกตลาด EV” ว่า จากการที่ภาครัฐมีการตื่นตัวในเรื่องของการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อีกทั้งกลุ่มบริษัทเอกชนหลายราย เริ่มเข้ามาในธุรกิจนี้ อาทิ ทั้งสถานีชาร์จ ถือเป็นเรื่องที่ดี โดย EA ถือเป็นกรีนโปรดักส์ทั้งหมด ทั้งไบโอดีเซล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม อีกธุรกิจคือ อีวี อีโคซิสเต็ม ทั้งในเรื่องของผู้ผลิตแบตเตอรี่ อีวีเรือ รถบัสอีวี และสถานีชาร์จ

อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสโลกที่พูดเรื่องกรีน ตัวแปรคือ สำคัญคือ ภาษีคาร์บอน ซึ่งหากไม่ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลายคนน่าจะพอทราบแล้ว ซึ่ง บริษัทได้นำเอไอ เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย อาทิ ใช้เอไอเข้ามาช่วยเพิ่มด้านประสิทธิภาพ เพราะอีวีเป็นเทรนด์ที่สำคัญ ถือเป็นโอกาสให้ประเทศไทยใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งหากเดินไปได้จะเกิด อีโคซิสเต็มครบวงจร ทั้งธุรกิจแบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น จะส่งผลถึงดีมานด์ในประเทศไทยที่มหาศาล

ทั้งนี้ บริษัทเป็นส่วนหนึ่งที่กระโดดมาธุรกิจอีวี อาทิ สถานีชาร์จ โรงงานประกอบรถบัส โรงงานแบตเตอรี่ โดยขณะนี้มีขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง จะขยายเป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมง ถือเป็นการสร้างอีโคซิสเต็มของตนเอง ต่างจากบริษัทอื่น ที่อาจจะเน้นในเรื่องของรถยนต์อีวี แต่บริษัทเน้นคอมเมอร์เชียลในวงกว้าง โดยก่อนจะดำเนินการได้มองทั้งจุดแข็งจุดอ่อน รวมถึงตลาดไปทางไหน หากมองในเรื่องของอีโคซิสเต็มอันแรกคือ ระบบการชาร์จ บริษัทมีระบบการชาร์จที่เร็วสุดใน 15 นาที ชาร์จได้ถึง 80% รวมถึงมีโรงแบตเตอรี่ที่มีความร่วมมือกับพันธมิตรไต้หวันมีความรู้ ความสามารถดำเนินธุรกิจมากว่า 20 ปี มีบุคลากร ที่มีความรู้ความสามารถ มี R&D แบตเตอรี่ที่แข็งแรง และน้ำหนักเบา

สำหรับโรงงานประกอบรถบัสเพสแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว รองรับการประกอบรถบัสได้ 8,000 คันต่อปี โดยปีนี้จะส่งมอบ 1,500 คัน ส่งมอบไปแล้ว 120 คัน ทั้งนี้ มองว่ารถโดยสารสาธารณะปีหน้าเกือบทั้งหมดใน กทม.จะเป็นรถอีวี ถือเป็นการโชว์ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมไม่ต่างจากคนอื่น และเป็นประเทศแรกๆ ที่มีรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าจำนวนมาก เชื่อว่าซัพพลายเชนในประเทศแข็งแรงพอ เมื่อมีการจับมือกันแข่งขันจะก้าวสู่ผู้นำในประเทศ นำเอาเทคโนโลยีมาหากินที่ต่างประเทศ จากที่เคยเป็นผู้ซื้อมาตลอด 30 ปี

“สถานีชาร์จเป็นธุรกิจไม่ได้กำไร แต่สร้างความเชื่อมั่น และต่อยอดธุรกิจ ปัจจุบันมี 2,000 หัวชาร์จ เกือบ 500 สถานี กระจายทั่วๆ ไป จะช่วยสร้างความแข็งแรง โดยมีแบบขายขาดและอยู่ในเน็ตเวิร์คของบริษัท เพื่อรองรับรถขนส่งที่ต้องการความรวดเร็วเนื่องจากรถขนส่งเป็นโลจิสติกส์ที่ปล่อยคาร์บอนเยอะ”

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะมุ่งผลิตรถบรรทุกเพราะมีโอกาสในการแข่งขันที่สูง ในเรื่องของการที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า 40% หากผลิตที่ประเทศไทย จะได้สิทธิยกเว้นภาษี จึงจะเป็นอีกโปรดักส์ทำให้ประเทศไทยได้ คู่แข่งก็ไม่ค่อยเยอะ และโอกาสที่ ไทยต้องการแบตเตอรี่รถขนส่งมหาศาล แต่ละปีมีรถใหม่ภาคขนส่ง 8 หมื่นคัน ใหญ่พอที่จะเกิดอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในประเทศได้ ดังนั้น จะต้องเอาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาอยู่ในไทยก้าวสู่อีวีฮับในประเทศ

“วันนี้ 25% ของคาร์บอนมาจากขนส่ง เราต้องสนับสนุนนโยบายรัฐ ดังนั้น ต้องเปลี่ยนเป็นอีวี อันหนึ่งที่มาเร็วกว่าที่คิดคือ บริษัทข้ามชาติเริ่มถามว่าเมื่อไหร่ รถขนส่งเป็นอีวี เพราะระดับโลกโดนเรื่องภาษีคาร์บอน ถ้าเราไม่เปลี่ยนจะอยู่ไม่ได้ อีกเรื่องคือ การใส่แบตเตอรี่รถบรรทุกก็ต้องใส่พอดีเพื่อคงสมดุลด้านน้ำหนัก ดังนั้น การสร้างสถานีชาร์จที่เร็วจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินชีวิต

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์