"สมโภชน์" จี้รัฐเร่งสร้างอีโคซิสเต็มส์ "อีวี" ชูไทยแลนด์เฟิร์ส ฟื้นประเทศ

"สมโภชน์" จี้รัฐเร่งสร้างอีโคซิสเต็มส์ "อีวี" ชูไทยแลนด์เฟิร์ส ฟื้นประเทศ

"สมโภชน์" จี้รัฐเร่งสร้างอีโคซิสเต็มส์ "อีวี" ทลายกำแพงกลุ่มคนรายได้น้อย ชู เพิ่มค่าแรง เน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ รักษาฐานการผลิต ชูไทยแลนด์เฟิร์ส ฟื้นประเทศ

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) กล่าวในงาน “Thailand Big Change ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร” จัดโดย "เนชั่นทีวี" ว่า การจะให้ประเทศไทยโชติช่วงชัชวาลเหมือน 20 ปีก่อนหรือไม่นั้น อาจจะเป็นเรื่องยาก วันนี้เราเข้าสู่สังคมสูงวัย (aging Society) และอีกปัจจัยภายนอกที่เข้ามาคือ โควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ปัญหาโลกร้อน เรื่องเทคโนโลยี และบล็อกเชน เป็นต้น แตกต่างจากสมัยก่อนการค้าของโลกเป็นการค้าเสรี

\"สมโภชน์\" จี้รัฐเร่งสร้างอีโคซิสเต็มส์ \"อีวี\" ชูไทยแลนด์เฟิร์ส ฟื้นประเทศ อย่างไรก็ตาม หลายคนชอบพูดว่าปัจจัยวันนี้คือ Perfect Storm เกิดปัจจัยหลายๆ อย่างที่รุมเร้ามาพร้อมกัน ทั้งสงครามการเปลี่ยนขั้วอำนาจของโลกที่กำลังจะเกิด หรือแม้แต่ปัญหาเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่ที่กำลังจะเกิด Bubble Economy ยิ่งไปกว่านั้น มีปัจจัยภายในประเทศเราที่สะสมมานานเริ่มตั้งแต่ประชากรเริ่มมีอายุสูงขึ้น กลไกต่างๆ GDP Growth ประเทศไทย ลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น การจะโต 3-4% ไม่ใช่เป็นสิ่งง่ายเหมือนเมื่อก่อน แม้จะมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่พยายามโปรโมทให้คนมาลงทุนในประเทศไทย แต่ก็ไม่มีตัวเลขที่ออกมาเยอะ

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยไม่มีเทคโนโลยีของตัวเอง ส่วนตัวเลขส่งออกคือ ไทยเป็นผู้ผลิตหรือรับจ้างผลิตรูปแบบ OEM คนส่วนใหญ่ยังเป็นฐานข้างล่างโดย 10% ของประเทศไทย Maintain หรือครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 80% ของประเทศ ถือเป็นปัญหาใหญ่เพราะฐานที่กว้างเป็นฐานที่มีรายได้ต่ำ ประเทศไทยไม่มีทักษะแรงงาน เมื่อเกิดโควิดหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระดับรากหญ้า ปัญหาหลักไม่ใช่หนี้สาธารณะ แต่เป็นหนี้ครัวเรือนทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่สมดุลเป็นปัญหาสะสมเป็น 10 ปี

“เงินทุนที่ไหลเข้าประเทศไทย เทียบอาเซียน 2 ปีที่ผ่านมา เราต่ำมาก โดยเวียดนาม อินโดนีเซีย หรือสิงคโปร์ สูงกว่ามหาศาล แม้แต่ พม่า กัมพูชา หรือลาว เรายังแพ้ ภาพใหญ่ประเทศสูญเสียความได้เปรียบในการที่จะดึงคนต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย ถือเป็นจุดหักเหของเศรษฐกิจไทย และหากประเทศเพื่อนบ้านเติบโตขึ้น และพัฒนาตัวเองเท่าเรา และสามารถแข่งขันกับเราถือเป็นจุดที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย”

ทั้งนี้ ในวิกฤติจะมีโอกาสเหมือนเหรียญมี 2 ด้าน ขึ้นอยู่กับมุมมองร่วมกันโอกาสจะเริ่มขึ้นในประเทศไทยได้ ดังนั้นไม่ควรท้อถอยต้องยอมรับความจริง ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า แม้ทักษะแรงงานจะจำกัดแต่สะสมทักษะแรงงานมาหลาย 10 ปี ซึ่งยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีความรู้ ความสามารถ ที่จะพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมหรือสินค้าใหม่ให้กับประเทศ GDP ประเทศยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ใช้ demand กระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น นโยบายรัฐต้องชัดเจน และเกิด New s-curve ขึ้นและมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อน

นอกจากนี้ จะต้องชั่งน้ำหนักประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งแล้วไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเยียวยาคนที่เสียหายได้อย่างไร เพื่อสร้างความร่วมมือเมื่อเพิ่มค่าแรงก็สามารถขายของแพงขึ้นได้ จำเป็นจะต้องผลักดันให้สินค้าไทยสามารถยืนอยู่แนวหน้าได้ ดังนั้นยุทธศาสตร์ของ Thailand First จำเป็นจะต้องทำให้เกิดในอุตสาหกรรมหลักๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น

ทั้งนี้ ไทยควรเอา Concept นี้มาใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมรถยนต์เราที่เป็นประเทศส่งออก มี capacity ผลิตได้มากกว่า 2 ล้านคันใน 1 ปี ทุกคนแย่งชิงตำแหน่ง Leader ในอุตสาหกรรม วันนี้ อินโดนีเซีย ซึ่งมีแร่นิกเกิลเยอะจะใช้ตรงนี้เป็นจุดแข็งในการดึงดูดนักลงทุน จีนเคยเป็นประเทศบริโภคแต่มีแบรนด์หมากใหม่ๆ ขึ้นมา ส่วนเวียดนามกำลังจะตั้งโรงงานที่สหรัฐอเมริกา ที่สหรัฐมีแรงงานจำนวนมากถึง 60 ล้านคน สามารถสร้างแบรนด์ของตนเองค่าแรงขั้นต่ำที่จุใจ ส่วนประเทศไทย มีนักลงทุนญี่ปุ่นที่เคยช่วยอุดหนุนแต่วันนี้ อยู่ในที่นั่งลำบาก ไทยต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องสร้างขึ้นมา

“ถ้าไม่ทำรถอีวี แรงงานที่มีมากกว่า 9 แสนคน ในอุตสาหกรรมนี้คิดเป็น 11% ของ GDP ประเทศอาจจะตกงานนั่นจะเป็นปัญหาสังคมที่รัฐบาลจะต้องแก้ถ้าปล่อยให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศหลุดมือไปให้กับประเทศเพื่อนบ้าน”

วิธีแก้เราต้องเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ประเทศไทยถึงแม้จะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ แต่มี infrastructure เรื่องของโครงข่ายไฟฟ้าที่มั่นคงแข็งแรง ในขณะที่เพื่อนบ้านยังไม่มี ไทยมี supply chain ของรถทั้งคันที่สามารถสร้างได้เลย สร้าง New S-Curve กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เร็วกว่า โดยเริ่มจากรถอีวีเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะมี High Impact ส่งผลให้เกิด Impact ต่อรถส่วนบุคคลที่เราเป็น Champion Product

ทั้งนี้ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จอีวี ครอบคลุมภาคเหนือถึงภาคใต้ราว 2,000 กิโลเมตร ถ้าทำสถานีชาร์จทุกๆ 50 กิโลเมตรไปกลับ 2 ข้าง ทำแค่ 80 สถานีใช้เงินรวมไม่กี่หมื่นล้านบาท แต่เทียบกับอุตสาหกรรมยานยนต์มูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท หรือ 11% ของ GDP จะช่วยกลุ่มจ้างงานมากกว่า 900,000 คน เมื่อรถอีวีเชิงพาณิชย์เกิด รถอีวีที่นั่งก็จะตามมา

ทั้งนี้ ประเทศไทย มีรถเชิงพาณิชย์ที่จดทะเบียน 1.3 ล้านคัน ถ้าจำนวนนี้เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า ต้องใช้แบตเตอรี่ตั้งแต่ 260- 455 กิกะวัตต์ชั่วโมง ถือเป็นปริมาณมหาศาลแต่ที่สำคัญคือ รถกลุ่มนี้แต่ละปีมีการเปลี่ยนปีละประมาณ 80,000 คัน จะต้องใช้แบตเตอรี่อีก 16 กิกะวัตต์ชั่วโมง

“ผู้ผลิตรายใหญ่แบตเตอรี่ของโลกที่กระจายตัวส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน ถ้าเอารถเชิงพาณิชย์เป็นหลัก วันนี้เราสามารถสร้างโรงแบตเตอรี่อย่างน้อย 16-400 กิกะวัตต์ชั่วโมงได้ เราจะเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่เบอร์อันดับไม่เกิน 1 ใน 5 ของโลก ที่มีราคาถูกจะมีผลเรื่อง economy of scale ไปสู่รถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็น Major Champion product อีเอได้เริ่มทำโรงงานแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนปัจจุบันคือ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง และจะขยายเป็น 4 กิกะวัตต์ ชั่วโมง พร้อมลงทุนสถานีชาร์จเพื่อรองรับทั้งอุตสาหกรรมอีวี”

ทั้งนี้ เมื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปรับตัวมาใช้ High Technology จะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ ดังนั้น คนไทยต้องช่วยตัวเอง และที่สำคัญรัฐบาลจะต้องมีมุมมองเหมือนสมัย 20 ปีที่แล้วจากคำกล่าว Made in Thailand วันนี้จะต้องกลับมา Thailand First policy เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย

 

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์