‘นักวิชาการ’ ห่วงศก.โตต่ำหลัง กนง.เร่งขึ้นดอกเบี้ย แนะช่างน้ำหนักผลกระทบ

‘นักวิชาการ’ ห่วงศก.โตต่ำหลัง กนง.เร่งขึ้นดอกเบี้ย แนะช่างน้ำหนักผลกระทบ

นักวิชาการนิด้าห่วงเศรษฐกิจโตต่ำหลัง กนง.เตรียมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ ประเมินผลกระทบหลายด้านฉุดจีดีพีไทยปีนี้อาจโตแค่ 1 - 1.5% เท่านั้น แนะ กนง.ชั่งน้ำหนักระหว่างปรับขึ้นแล้วช่วยบาทอ่อนลดลง กับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือน ชี้ปรับขึ้นปลายปีเหมาะสมกว่า

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้เผชิญกับความเสี่ยงหลายเรื่องทั้งจากปัจจัยความไม่นอนภายนอก และแรงกดดันทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าที่แพงตามต้นทุนสินค้า และราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนในวงกว้าง

ทั้งนี้จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายด้านทำให้คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจของไทยอาจจะเติบโตในระดับต่ำอีกปี โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ประมาณ 1 – 1.5% เท่านั้น เนื่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจทั้งจากภายในและภายนอกประเทศมีมาก

นายมนตรีกล่าวต่อว่าสำหรับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในส่วนของประเทศไทยมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 5% ในช่วงต้นปีมาอยู่ที่ระดับ 7.1% ในเดือน พ.ค.โดยเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะนี้เป็นการปรับขึ้นจากปัจจัยเรื่องต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าในหมวดน้ำมัน และสินค้าในหมวดหมู่อาหาร ซึ่งเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในเดือนล่าสุดมาจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นประมาณ 2% และมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 5%

ดังนั้นเงินเฟ้อในรอบนี้ไม่ได้เกิดจากการฟื้นตัวหรือความร้อนแรงของเศรษฐกิจแต่เป็นเรื่องของต้นทุน (cost push)มากกว่าจึงไม่สามารถที่จะแก้ไขด้วยการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากในระดับของเงินเฟ้อที่เกิดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับ 2% ถือว่าเป็นเงินเฟ้ออ่อนๆถือว่าเป็นระดับเงินเฟ้อที่ยอมรับได้

นายมนตรีกล่าวว่าการตัดสินใจของ กนง.ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ในขณะนี้เป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่าย และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายอย่าง เพราะการตัดสินใจเพื่อขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดเงินเฟ้อที่เกิดจาก cost push ไม่ช่วยในเรื่องของการแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้มากนัก

เนื่องจากเมื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน แร่ธาตุ หรืออาหารต่างๆก็ไม่ได้ปรับลดลง ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้เงินบาทที่อ่อนค่าไปมากกว่า 35  บาทต่อดอลลาร์ในขณะนี้แข็งค่ามากขึ้นซึ่งเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นจะช่วยเศรษฐกิจในเรื่องของการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยใช้เงินที่ลดลง

เพราะหากค่าเงินบาทอ่อนไปเรื่อยๆการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศจะต้องใช้เงินบาทไปแลกเป็นเงินดอลลาร์มากกว่าปกติและส่งผลต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้

ส่วนหากไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายโดยคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ต่อไปก็จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนเนื่องจากเงินทุนไหลออกไปลงทุนในประเทศที่มีผลตอบแทนมากกว่าโดยเฉพาะในสหรัฐฯที่เพิ่งขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.75%

อย่างไรก็ตามเมื่อไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้วส่งผลให้ค่าเงินบาทที่อ่อนก็จะช่วยในเรื่องของการส่งออก และเรื่องของภาคท่องเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายมากขึ้นจากค่าเงินบาที่อ่อนค่าลง

 “การตัดสินใจในเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้เป็นการตัดสินใจที่ กนง.ต้องพิจารณาถึงหลายปัจจัย และต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะการเร่งรัดขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปก็ไม่เกิดผลดีเพราะเวลาดอกเบี้ยขึ้นคือปรับขึ้นทั้งกระดาน ประชาชนที่มีปัญหาในเรื่องหนี้ครัวเรือนมากก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นด้วย

โดยช่วงเวลาที่การขยับดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นคือในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีมากกว่าจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพราะในช่วงไตรมาสสุดท้ายภาคท่องเที่ยวจะฟื้นตัวมากขึ้น ประชาชนมีรายได้ และภาคธุรกิจมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยในขณะนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่ดีกว่าและไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ” นายมนตรี กล่าว