3 สัญญาณเงินเฟ้อโลกใกล้ผ่านจุดสูงสุด

3 สัญญาณเงินเฟ้อโลกใกล้ผ่านจุดสูงสุด

3 สัญญาณเงินเฟ้อโลกใกล้ผ่านจุดสูงสุด แม้เงินเฟ้อไทยยังพุ่ง และ ดอกเบี้ยกำลังเพิ่ม

สัปดาห์นี้ นักลงทุนยังคงให้ความสนใจกับผลของการประชุมธนาคารกลาง และตัวเลข เงินเฟ้อ ในหลายประเทศที่เริ่มทยอยประกาศออกมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงผันผวน ต่อขณะที่ธนาคารกลางหลายแห่ง ยังคงมีแนวโน้มกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง 

ล่าสุด ธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางอินเดีย กลับมาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 50 bps สู่ระดับ 0.85% และ 4.90% ตามลำดับ รวมถึงธนาคารกลางยุโรปที่ถึงแม้จะไม่ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ แต่ได้ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม และกันยายน จากระดับดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ -0.5% และหากเงินเฟ้อยังไม่ชะลอตัวก่อนเดือนกันยายน โอกาสในการปรับขึ้น 50 bps ก็จะเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ออกมาส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยเช่นกันในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ธนาคารกลางประเทศสำคัญเริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

3 สัญญาณเงินเฟ้อโลกใกล้ผ่านจุดสูงสุด

Source: Bloomberg

เงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มใกล้จุดสูงสุดแล้ว?

นักวิเคราะห์ของ Bloomberg มองว่าเงินเฟ้อน่าจะอยู่ใกล้จุดสูงสุดแล้ว จาก 3 ปัจจัยหลัก 1) Inventory ของบริษัทสหรัฐฯ โดยเฉพาะในฝั่งของ retail ยังอยู่ในระดับที่สูง 2) ราคาของ Semiconductor ที่นำไปประกอบชิ้นส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ราคาปรับตัวลงมาราวครึ่งนึงเมื่อเทียบกับระดับสูงสุดในเดือนกรกฎาคม ปี 2018 และปรับตัวลงถึง 14% เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่แล้ว รวมถึงราคา shipping containers ที่ปรับตัวลงถึง 26% นับจากจุดสูงสุดในช่วงกันายายน ปี 2021 และราคาปุ๋ยในอเมริกาเหนือที่สะท้อนไปยังเงินเฟ้อของราคาอาหารสด ที่ปรับตัวลง 24% จากจุดสูงสุดของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 3) ฐานเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯในปีที่แล้วที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น

ราคา semiconductor (DRAM), Shipping Container และราคาปุ๋ยเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว

3 สัญญาณเงินเฟ้อโลกใกล้ผ่านจุดสูงสุด

Source: Bloomberg

เงินเฟ้อไทย พฤษภาคม +7.10% สูงสุดในรอบ 13 ปี เชื่อยังไม่ผ่านจุดสูงสุด

ถึงแม้ เงินเฟ้อ โลกจะดูเหมือนเริ่มเข้าใกล้สู่ระดับสูงสุดแล้ว แต่เงินเฟ้อของไทยยังคงเป็นขาขึ้น โดยเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เดือนพฤษภาคม ขยายตัว +7.1% YoY (prev.+4.7% YoY) หนุนจากราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นแรง โดยเฉพาะในฝั่งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวขึ้น +35.89% ตามทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ช่วงเดือน พฤษภาคม ถึงสิงหาคม ขณะที่หมวดอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ +6.18% จากต้นทุนที่สูงขึ้น ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงานก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในเดือนพฤษภาคม ขยายตัว +2.3% (prev.+2%)

ด้านสำนักงานนโยบายยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) มองว่าเงินเฟ้อครึ่งปีหลังจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรในช่วง กันยายน ถึงธันวาคม รวมถึงวิกฤติอาหารในตลาดโลกที่ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศงดการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญหลายรายการ และส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของฝั่งอุปสงค์มีทิศทางดีขึ้น หลังจากที่ภาครัฐได้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และเปิดประเทศนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นต่อ

เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนพฤษภาคม ออกมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี

3 สัญญาณเงินเฟ้อโลกใกล้ผ่านจุดสูงสุด

Source:ESU

ผลประชุม กนง. คงดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย คาดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 75 bps จนสิ้นปี 2022

ในการประชุม กนง. ครั้งล่าสุด กนง. มีมติ 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี โดยสิ่งที่น่าสนใจในการประชุมครั้งนี้ คือการมีคณะกรรมการถึง 3 ท่าน ที่เห็นควรว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% ต่อปี โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมาเพิ่มขึ้น และมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นต่อ และอาจจะยังอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่เคยมีการประเมินไว้ ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันมีความจำเป็นลดลง

จากท่าทีดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์หลายแห่งมองว่า กนง. จะกลับมาเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในเดือนสิงหาคมนี้ เช่นเดียวกันกับ TISCO Economic Strategy Unit (ESU) ที่มีการปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ย โดยมองว่าปีนี้จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งละ 25bps ในการประชุมเดือนสิงหาคม, กันยายน และพฤศจิกายน (รวม 75bps) ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีขึ้นไปแตะที่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงที่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และคาดในปีหน้าจะปรับขึ้นอีก 0.75% ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาราคาพลังงานซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อที่สำคัญว่าจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องตลอดทั้งปีหรือไม่

ที่มา: MoC, TISCO Economic Strategy Unit (ESU), Bank of Thailand, Bloomberg

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds