‘ศุภวุฒิ’ ชี้หาก ‘เฟด’ ไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง หวั่นคุมเงินเฟ้อไม่อยู่

‘ศุภวุฒิ’ ชี้หาก ‘เฟด’ ไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง หวั่นคุมเงินเฟ้อไม่อยู่

“ตลาดคริปโทโลก”ดิ่งผวาเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง ไบแนนซ์ ระงับถอนบิตคอยน์ “ศุภวุฒิ” ชี้เฟดอัดยาแรง ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สกัดเงินเฟ้อ เหมาะสม ถอดชนวนวิกฤติการเงิน ด้านEIC ปรับจีดีพีไทยขึ้น แต่ยังเต็มไปด้านความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอ ด้านกสิกร มองเฟดขึ้นดอกเบี้บครั้งละ0.50%

        ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี วานนี้ (14 มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องโดยช่วงเช้าร่วงแตะ 21,000 ดอลลาร์จากความกังวลธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง ที่หลายสำนักระบุ มีโอกาสขึ้น 0.75% หลังเงินเฟ้อสหรัฐพ.ค.พุ่งแตะ 8.6% สูงสุดรอบ 40 ปี

   ตั้งแต่ต้นปี ราคาบิตคอยน์ร่วง 53%(11.54 น. 14 มิ.ย.65) ส่งผลให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ไบแนนซ์  และเซลเซียส เน็ตเวิร์กส์ ผู้ให้บริการกู้ยืมคริปโทที่ใหญ่สุดในโลก หยุดให้บริการถอนบิตคอยน์ ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกเทขายคริปโทออกมา 

   นอกจากนี้ความวิตกเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรงในการประชุมรอบนี้ 14-15 มิ.ย. ตามเวลาสหรัฐ ยังทำให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกหลายตลาดปรับตัดลดลงอย่างรุนแรงในตลอด 2 วันที่ผ่านมา และอาจเป็นชนวนที่เกิดวิกฤติการเงินโลกรอบใหม่หรือไม่

‘ศุภวุฒิ’ ชี้หาก ‘เฟด’ ไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง หวั่นคุมเงินเฟ้อไม่อยู่


 

“ศุภวุฒิ”ชี้เหมาะสม เฟดใช้ยาแรง     
     ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ประเมินว่า มีโอกาสที่จะเห็น ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ใช้ยาแรง ผ่านการขึ้นดอกเบี้ย “เร็ว”และ “แรง” ได้

        เพราะหากเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง คงไม่สามารถคุมเงินเฟ้อได้ เพราะปัจจุบันเฟดขึ้นดอกเบี้ยช้า กว่าที่ควรเป็น จากที่ควรขึ้นปีก่อน 
ดังนั้น การพลาดการขึ้นดอกเบี้ย จึงนำมาสู่ภาวะหนักของเฟดวันนี้ ที่ต้องใช้ยาแรงในการคุมเงินเฟ้อ ยิ่งวันนี้ที่เศรษฐกิจสหรัฐดีเกินไป ว่างงานต่ำ 3.5-3.6 ล้านคน ขณะที่ตำแหน่งงานว่างมีถึง 11 ล้านตำแหน่ง ขณะที่วันนี้เศรษฐกิจ overheat หรือร้อนแรงเกินไป 

      อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อสหรัฐวันนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8% หากเทียบกับเงินเฟ้อในอดีตที่อยู่เพียง 2%

     ดังนั้นเพื่อคุมเงินเฟ้อ เฟดต้องใช้ยาแรง และต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็ว แม้เศรษฐกิจสหรัฐข้างหน้าจะชะลอตัวลงก็ตาม เพราะหน้าที่หลักของ เฟด คือการคุมเงินเฟ้อ

    โอกาสที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% ถือว่ามีโอกาส ทำให้มีความเป็นไปได้ ที่จะเห็นดอกเบี้ยสหรัฐไปแตะระดับที่ 4% ในปลายปีนี้ เหมือนที่ตลาดกังวล 
      “วันนี้เฟดกำลังเจอปัญหาหนัก จากการที่ไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พอขึ้นแล้วต้องเร่ง และแรงเงินเฟ้อปีก่อน 2% ปีนี้ 8% ดังนั้นหากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ถือว่ากระจอกเลย มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะเงินเฟ้อระดับนี้ลงยาก การที่จะทำให้เงินเฟ้อลงได้ ต้องอัดยาแรงไปเกินเงินเฟ้อ หากเงินเฟ้อค้างนานที่ 8% อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 9% ถึงจะเอาเงินเฟ้อลงมาได้ เหมือนอดีตที่เงินเฟ้อขึ้นไปสูงสุด13% เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 20% เพื่อลดผลกระทบเงินเฟ้อที่จะลามสู่เศรษฐกิจ”
       ส่วนความกังวลของตลาดในปัจจุบัน ว่าเฟดอาจใช้ยาแรง เพื่อดูแลเงินเฟ้อ จนส่งผลทำให้ตลาดเกิดความผันผวน มีการโยกสินทรัพย์ไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

      ตรงนี้ก็มาจาก การทำนโยบายการเงินของเฟดในอดีต ที่มีการอุ้มเศรษฐกิจ อุ้มประชาชนเกินไป พอตลาดเปลี่ยน ไปสู่การทำนโยบายปกติมากขึ้น สู่การขึ้นดอกเบี้ย ตลาดจึงกังวล เพราะอดีตเงินเฟ้อไม่ได้สร้างปัญหา สู่เศรษฐกิจ ทำให้เคยชินกับเงินเฟ้อต่ำๆ 
       ดังนั้น หากไม่สามารถเอาเงินเฟ้อลงมาได้ จะยิ่งมีผลกระทบข้างหน้าอีกมหาศาล และอาจจำไปสู่ความเสี่ยงอื่นๆได้ในระยะข้างหน้า 
ขณะเดียวกันเชื่อว่า แม้เฟดจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

      แต่เชื่อว่า คงไม่ได้นำมาสู่ วิกฤติโลก หรือวิกฤติการเงินโลกในระยะข้างหน้า แต่จะเป็นภาพของการชะลอตัว เพราะเศรษฐกิจวันนี้แตกต่างกันอดีต หรือต่างกับเหตุของการเกิดวิกฤตซัพไพรม์ เหมือนในอดีตค่อนข้างๆ เพราะปัญหามาจากเงินเฟ้อเท่านั้น      
      สำหรับ การปรับตัวลดลงของบิทคอยน์ต่อเนื่องในปัจจุบัน ถือว่าเป็นภาวะปกติ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะการลงทุนในตลาดนี้ถือว่ามีความเสี่ยง หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยง เพราะสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบิทคอยน์เหล่านี้ ไม่สามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสม หรือมูลค่าพื้นฐานได้ยาก ทำให้การประเมินราคา และความแข็งแกร่งทำได้ยาก

    ซึ่งแตกต่างกันการลงทุนในสินทรัพย์อื่น เช่นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า แม้ราคาบิทคอยน์ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ก็เชื่อว่า จะไม่นำไปสูวิกฤติการเงินโลก เพราะวันนี้ ตลาดบิทคอยน์ถือว่าค่อนข้างเล็ก มีมาร์เก็ตแคปเพียง 1-2ล้านดอลลาร์เท่านั้น เทียบกับตลาดหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคประดับ 8-9หมื่นดอลลาร์สหรัฐ 

      ดังนั้นความเสียหายต่างกันมาก แต่ก็ต้องมีคนที่ได้รับผลกระทบแน่นอน จากการลดลงของราคา โดยเฉพาะผู้ที่กู้เงินมาเพื่อนำไปซื้อบิทคอยน์

EIC ปรับจีดีพีไทยขึ้น

    นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า ล่าสุด EIC ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทย เพิ่มขึ้นเป็น 2.9% จากเดิม 2.7%

    แม้ภาพเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวมากขึ้น แต่ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความท้าทายมาก ภายใต้สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่อึมครึม 
โดยภาพของเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย วันนี้เปลี่ยนไป จากเดิมพระเอกคือการส่งออก

    แต่ปัจจุบัน ภาคส่งออกมีบทบาทน้อยลง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ภาคบริการ ที่เชื่อมกับท่องเที่ยวจะค่อยๆมีบทบาทมากขึ้น 
     อย่างไรก็ตาม การปรับประมาณการณ์จีดีพี หลักๆ มี 2ส่วนสำคัญ คือ การปรับตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เป็น 7.4 ล้านคน จาก 5.7 ล้านคน  

   ขณะที่การบริโภค ในประเทศ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3% จาก 2.9% ขณะที่มีการปรับลด การส่งออกจาก 6.1% เหลือ 5.8% ดังนั้นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไป 
    “การปรับประมาณการณ์จีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% เราได้รวม Downside Risk เข้ามาแล้ว แต่ผมไม่ได้กังวลปีนี้ แต่กังวลปีหน้ามากกว่า เราคาดปีหน้าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.8% เพราะถ้าหากโลกชะลอตัวเร็ว สุดท้ายอาจลามท่องเที่ยว กระทบส่งออก แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะหายไปทันที ดังนั้นปีหน้ากังวลกว่าปีนี้” 
      อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แต่ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง และมี uneven ค่อนข้างมาก จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

     ซึ่งส่งผลให้ตลาดขาดความเชื่อมั่น หุ้นตก เพราะนักลงทุนกังวลกับเศรษฐกิจระยะถัดไป จากอุปทานและอุปสงค์ 
     โดยรวมความเสี่ยงมี 3ปัจจัยด้วยกันที่ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

     ด้านแรก สงครามรัสเซีย ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทำให้ราคาโภคภัณฑ์ น้ำมัน อาหารปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสงครามครั้งนี้ถือว่ามีผลกระทบมหาศาล 
      ด้านที่สอง คือ ผลกระทบจาก การล็อกดาวน์ของจีน เพื่อคุมการระบาดโควิด -19  ซึ่งกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศและซ้ำเติมปัญหาอุปทานโลกเพิ่มขึ้น เพราะจีนถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และเป็นศูนย์กลางขนส่งของโลก 
     สุดท้าย คือ การดำเนินนโยบายการเงินที่ตรึงตัว ของธนาคารกลางประเทศหลักๆ ที่เร็วและแรง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ เหล่านี้กดดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น 
      “เราจะเห็นได้ว่า หลายประเทศที่อุปสงค์ฟื้นตัว จะมีการขึ้นดอกเบี้ย และแตะเบรก ดังนั้นผลที่จะเกิดขึ้น คืออุปสงค์โลกจะหายไป แรงซื้ออาจจะน้อยลง ดังนั้นเศรษฐกิจวันนี้จึงอยู่ในโหมดครึ้มๆ” 
 ขึ้นดอกเบี้ยตัวเร่งเกิดเศรษฐกิจถดถอย
       อย่างไรก็ตาม  จากการศึกษาของ EIC พบว่า การขึ้นดอกเบี้ยของประเทศหลักๆในอดีต พบว่า การขึ้นดอกเบี้ย 16 ครั้งที่ผ่านมา เกิด recession ไปแล้ว 12 ครั้ง เพราะเมื่อขึ้นดอกเบี้ย มีการขึ้นพร้อมกัน เหล่านี้จะยิ่งดึงอุปสงค์ลงพร้อมๆกัน ยิ่งเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจมากกว่าที่คาด ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ก็มักทำให้ เกิดช็อคเกิดขึ้นได้

     ดังนั้นEIC มองว่า โอกาสที่จะเกิด recession ของโลกมีมากขึ้น จากการเริ่มถอนนโยบายการเงินของโลก ส่งผลให้เห็นการปรับภาพเศรษฐกิจโลกลดลง เพราะภาพแย่กว่าที่คาด 
    ในด้านการส่งผ่านมาสู่ไทย เม.ย. เห็นการส่งออกไทย โตระดับ 9% แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นปริมาณ และจำนวนสินค้าลดลง 1ใน 3 แล้ว จากผลกระทบข้างต้น

     โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน และยุโรปที่ลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะไทยมีการส่งออกไปจีนและยุโรปรวมกันถึ 50% ของการส่งออกทั้งหมด 
      อย่างไรก็ตาม ด้านการดำเนินนโยบายการเงิน คาดว่ากนง.น่าจะขึ้นดอกเบี้ย 1ครั้งปีนี้ ที่ 0.25% และค่อยๆรอดูเงินเฟ้อ และการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ก่อนที่จะมีการปรับนโยบายการเงินเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า โดยหลักๆการขึ้นดอกเบี้ยก็เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ ที่ปัจจุบันสูงมากที่ 7.1% เพราะผลกระทบเงินเฟ้อมีมากกว่าคาด

     และสิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ การคาดการณ์เงินเฟ้อคาดการณ์ หากปรับขึ้น เหล่านี้จะทำให้ต้นทุน ค่าจ้างต่างๆปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการลดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้
      “เงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาก จะยิ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบมากขึ้น ยิ่งปัจจุบัน เมื่อเงินเฟ้อเราเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเราต่ำแซงเพื่อนบ้านไปแล้ว แปลว่านักลงทุนที่เข้ามาลงทุน อาจมีรายได้ติดลบ ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นธุรกิจนำเงินออก ก็มีโอกาส ยิ่งกดดันเงินบาทอ่อนค่าไปอีก และมีโอกาสแตะระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ เหล่านี้จึงเพิ่มแรงกดดันทำให้กนง.ต้องเร่งปรับดอกเบี้ยขึ้น”
    สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด EIC คาดว่าจะเห็นขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% ในการประชุมอีก 3ครั้งปีนี้ ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐแตะระดับ 3% ในสิ้นปีนี้ได้ 
  
    อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกจะมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น แต่เชื่อว่า แต่ไม่ใช่วิกฤติของเศรษฐกิจโลก หรือวิกฤติการเงินโลก วิกฤติจะมาได้ หากเกิดสงครามเพิ่มขึ้นเชื่อไม่เกิดวิกฤติการเงินโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ0.50% 

    นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ประเมินว่า เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% คงไม่ขึ้นแรงถึง 0.75% ดังนั้นคาดการณ์ดอกเบี้ยสหรัฐ ปลายปีน่าจะอยู่เหนือ 3% 
     อย่างไรก็ตาม ส่วนผลของการขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลกระทบรุนแรงหรือไม่นั้น มองว่า โอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยระยะสั้นได้ ราว 2 ไตรมาส แต่จะไม่กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ หรือวิกฤติการเงินในระยะข้างหน้า เพราะเศรษฐกิจโลกวันนี้แตกต่างจากอดีตค่อนข้างมาก 
       ไม่เหมือนวิกฤติซัพไพร์มที่โลกต้องเผชิญในปีอดีต ที่เกิดจากการก่อหนี้สินเกินตัว การเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมาก แต่วันนี้ความเสี่ยงเหล่านี้ ไม่มี แม้จะมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ที่เสี่ยงทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวก็ตาม
       “การปรับนโยบายการเงินของเฟดครั้งนี้ เป็นการปรับฐานเศรษฐกิจเท่านั้น จากการที่เคยทำนโยบายการเงิน การคลังไม่ระมัดระวังในอดีต ทั้งแจกเงินต่างๆ ดังนั้นวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลของการทำนโยบายการเงินการคลังสหรัฐ อดีต มีผลกระทบมาสู่วันนี้ด้วย” 
ผลกระทบบิทคอยน์ร่วงแรงกระทบจำกัด
     อย่างไรก็ตาม สำหรับการลดลงของราคาบิทคอยน์ลงต่อเนื่อง เหล่านี้จะนำไปสุ่วิกฤติการเงินโลกได้หรือไม่นั้น มองว่า ตลาดการลงทุนในบิทคอยน์วันนี้ไม่ได้ใหญ่มาก หากเทียบกับการลงทุนตลาดอื่นๆ

    ขณะที่ บิทคอยน์ ไม่ใช่สินทรัพย์กระแสหลักของโลก แม้จะมีบางส่วนที่พบว่า คนกู้เงินมาเพื่อซื้อบิทคอยน์ก็ตาม เหมือนอดีตที่คนกู้เงินมาซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไรอสังหาฯแต่ขนาดของการเข้าไปลงทุนในตลาดอสังหาใหญ่มาก จึงกระเทือนต่อเศรษฐกิจ และนำไปสู่วิกฤติการเงินโลก

     แต่บิทคอยน์ แม้จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบบ้าง ขาดทุน หมดตัว แต่คงไม่กระทบจนทำให้เกิดวิกฤติ 

     “จังหวะนี้คนตกใจ และหลีกเลี่ยงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เพระไม่แน่นอนว่าเฟดจะส่งสัญณาณอย่างไร ตลาดตีความอย่างไร ดังนั้นก่อนจะทำอะไรรอความชัดเจนก่อน แต่ธรรมชาติของการลงทุน นักลงทุนมักไม่รอ เพราะถ้ารอโอกาสอาจหายไป ทำให้ต้องตัดสินใจเร็ว ทำให้วันนี้ตลาดถึงผันผวน ซึ่งการทำแบบนั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงสูง เพราะกระโดดเข้าไปทั้งที่ไม่รู้ว่ามีความเสี่ยงอะไรรออยู่ข้างหน้า ดังนั้นการลงทุนอะไรก็ตาม ไม่ชัดเจน ควรรอดูก่อน ชั่งน้ำหนักให้ดีก่อน"